Thrill Is Gone

Thrill Is Gone

สวัสดีแฟนเพจและท่านผู้อ่านทุกท่านครับ ผมเขียนบทความอันนี้ทิ้งไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมาแต่กว่าจะเคลียร์ธุระต่างๆนานามาเขียนต่อให้จบได้ก็ปาเข้าไปร่วมสัปดาห์ หากท่านผู้อ่านได้มีโอกาสใช้เว็บไซต์กูเกิ้ลในวันที่ 16 ที่ผ่านมาก็คงจะได้เห็นการ tribute เล็กๆน้อยๆที่กูเกิ้ลมักจะทำให้กับบุคคลและเหตุการณ์ระดับโลกที่มีชื่อเรียกเล่นๆว่าดูเดิ้ลกันนะครับ ดูเดิ้ลของวันที่ 16 ที่ผ่านมาเกี่ยวข้องกับพวกเราชาวบลูส์ก็ตรงที่ว่ามันเป็นวันครบรอบวันเกิดของราชาแห่งเพลงบลูส์ร่วมสมัย B.B. King นั่นเองครับ ซึ่งหากเขายังมีชีวิตอยู่วันนี้ก็จะเป็นวันครบรอบอายุ 94 ปีพอดีครับ

พอพูดถึงบีบีคิงท่านผู้อ่านนึกถึงอะไรกันบ้าง..? บุคลิกคุณตาใจดี, กีตาร์คู่ใจสีดำที่ชื่อว่า Lucille, หรือเพลงบางเพลงที่ท่านผู้อ่านชอบเป็นพิเศษครับ? สำหรับตัวผมเองนั้นบีบีคิงเองถึงแม้จะมีลักษณะเด่นให้เป็นที่จดจำหลายอย่าง แต่อย่างแรกเลยที่ผมจะนึกขึ้นมาก่อนเสมอเมื่อนึกถึงบีบีคิงก็คือเพลงฮิตที่สุดของเขา Thrill Is Gone นั่นเองครับ ซึ่งก็เป็นที่มาของเรื่องที่ผมจะเขียนเนื่องในโอกาสครบรอบวันเกิดของราชาเพลงบลูส์คนนี้ครับ

ในบรรดาศิลปินบลูส์ที่เป็นตำนานทั้งหมดในความเห็นของผมเองนั้น บีบีคิงเป็นสะพานเชื่อมที่โดดเด่นที่สุดที่ทำให้ดนตรีบลูส์เข้าถึงคนหมู่มากได้จริงๆ และสามารถทำได้โดยการใช้เพลงบลูส์จริงๆแต่ผสมผสานการตีความและการเรียบเรียงที่ร่วมสมัยเรื่อยมาจนทำให้แม้คนที่ไม่รู้จักหรือสนใจดนตรีบลูส์อย่างน้อยๆก็ต้องเคยได้ยินเพลงหรือชื่อเสียงของบีบีคิง ตรงนี้น่าสนใจมากๆครับ เพราะถ้าเราจะพิจารณาศิลปินกลุ่มอื่นๆที่มีส่วนช่วยให้ดนตรีบลูส์อยู่รอดผ่านกาลเวลามาได้นั้น เราจะพบว่า Impact ที่มีต่อผู้ฟังในวงกว้างนั้นอาจจะไม่สามารถเทียบเท่ากับสิ่งที่บีบีคิงทำได้ด้วย Thrill Is Gone เพียงเพลงเดียวด้วยซ้ำไป เขียนมาอย่างนี้บางท่านอาจจะแย้งในใจว่าผมมองข้ามศิลปินดังๆไปเป็นจำนวนมากอย่างเหมารวมได้อย่างไร ตรงนี้ขออนุญาตอธิบายอย่างนี้ครับ

ถ้าเรามองในภาพรวมว่าโดยหลักๆเรามีสองกลุ่มนักดนตรีบลูส์ที่มีอิทธิพต่อความนิยมของดนตรีชนิดนี้คือกลุ่มนักดนตรีผิวดำรุ่นบุกเบิก และกลุ่มนักดนตรีผิวขาวที่นำเอาดนตรีบลูส์ไปผสมผสานกับแนวดนตรีอื่นๆนับตั้งแต่ช่วงปี 60s เรื่อยมาซึ่งถือเป็นการต่อชีวิตดนตรีบลูส์โดยทางอ้อมนั้น ไม่ว่าจะพิจารณานักดนตรีคนไหนหรือกลุ่มไหนเราก็จะเห็นว่านักดนตรีส่วนใหญ่จะยึดติดอยู่กับสไตล์ที่ตนถูกสอนมา หรือสไตล์ที่ตนหรือวงได้พัฒนาขึ้นมา มีนักดนตรีส่วนน้อยมากที่จะสามารถพัฒนาคลี่คลายตามยุคสมัยเรื่อยมา และห่างออกไปจากจุดเริ่มต้นของตนเองได้มากเท่ากับบีบีคิง มิหนำซ้ำยังสามารถเข้าถึงคนหมู่มากได้มากขึ้นเรื่อยๆตามยุคสมัย

สำหรับผมแล้วเพลงอย่าง Thrill Is Gone เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดครับ..

บีบีคิงนั้นนับได้ว่าร่วมรุ่นกันกับตำนานบลูส์ผิวดำยุคอิเล็คทริคบลูส์ทุกคนที่เราๆพอจะนึกกันออกครับ แต่ในขณะที่ศิลปินบลูส์ส่วนใหญ่เลือกที่จะยึดติดกับฟอร์แม็ตของเพลงบลูส์แบบ traditional นั้น บีบีคิงน่าจะเป็นคนแรกๆที่เลือกเอาเฉพาะวิธีการร้อง และการโซโล่แบบถามตอบ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดประการหนึ่งของบลูส์ นำเอกลักษณ์ตรงนี้ถอดออกไปรวมกับทางคอร์ดที่อาจจะต่างจากขนบไปบ้าง และเปิดทางให้กรูฟใหม่ๆอื่นเข้ามาเป็นส่วนประกอบของตัวเพลงบ้าง ผลลัพธ์ก็คือเพลงบลูส์สแตนดาร์ดแบบใหม่ในสไตล์ของบีบีคิง ที่มีความพิเศษในการที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลาตามยุคสมัยอย่าง Thrill Is Gone เพลงนี้เป็นต้นครับ และอีกอย่างหนึ่งที่หลายๆท่านอาจจะยังไม่รู้ก็คือ เพลงนี้ไม่ได้เป็นเพลงออริจินอลของบีบีครับ!

เพลงนี้ต้นฉบับนั้นเป็น slow blues จากปี ’51 ของ Roy Hawkins ครับ ซึ่งหากฟังดูแล้วก็เป็นเพลงที่ดีแต่ก็ไม่โดดเด่นอะไรมาก แต่วิธีการเล่าเรื่อง(เนื้อเพลง)ของเพลงนี้จะว่าไปแล้วก็ถือว่าค่อนข้างแตกต่างกว่าเพลงบลูส์ในสมัยนั้นที่ยังตรงไปตรงมาและมักจะนิยมพูดถึงเหล้า ยา และอาชญากรรมอยู่พอสมควร วิธีการเล่นเรื่องที่อ่อนละมุนกว่าของเพลงนี้นั้นดูๆไปก็มีกลิ่นของโซลผสมเข้ามาอยู่บ้าง บีบีเองอาจจะเห็นความแตกต่างในจุดนี้ว่าเขาจะสามารถนำพาวัตถุดิบตรงนี้นำเสนอให้กลุ่มคนฟังที่กว้างขึ้นโดยยังสามารถคงเอกลักษณ์ของบลูส์ไว้ครบถ้วนได้อย่างไร และเมื่อเขานำเนื้อร้องที่เป็นบลูส์เพิ่มวิธีการร้องที่ได้อิทธิพลจากดนตรีโซลมาผสม รวมกับภาคริทึ่มที่กระเดียดไปทางโซล จึงเกิดขึ้นเป็น Thrill Is Gone ในเวอร์ชั่นของเขาจากอัลบั้ม Completely Well ในปี 1969 ซึ่งส่งผลให้เขาได้รับรางวัล Grammy Awards ในปีถัดไป และอย่างที่เราก็ได้ทราบกันมาถึงทุกวันนี้ว่านี่คือหนึ่งใน Single ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของบีบีคิง นับเป็นบลูส์สแตนดาร์ดเพลงแรกๆที่ทำลายกรอบเดิมของบลูส์ได้อย่างแนบเนียน

บทเพลงนี้ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นก็ได้พิสูจน์ตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยการถูกนำไปบรรเลง ร่วมกับศิลปินต่างๆมากมายหลายแนวผ่านระยะเวลาหลายทศวรรษจวบจนวาระสุดท้ายของบีบีคิง… ขึ้นหิ้งเป็นบทเพลงอมตะอย่างไม่มีข้อสงสัย ถึงแม้ในบทเพลงเพลงนั้นจะกล่าวไว้ว่า Thrill Is Gone และเจ้าของบทเพลงเองก็ได้จากพวกเราไปแล้ว แต่ “Thrill” หรือความตื่นเต้นที่เกิดจากการที่บทเพลงนี้ได้บุกเบิกแนวทางใหม่ๆให้กับวงการบลูส์นั้นจะยังอยู่กับพวกเราไปอีกนานครับ

*วันนี้ขออนุญาตแถมเป็นพิเศษอีกสักหนึ่งคลิป ถึงแม้คุณภาพอาจจะไม่ดีเท่าไหร่แต่ความพิเศษของคลิปนี้นอกจากศิลปินที่มาร่วมบรรเลงแล้วก็อยากให้ท่านผู้อ่านลองสังเกตุตรงนาทีที่ 2:30 อยากจะบอกว่า… อบอุ่นหัวใจจริงๆครับ

ฮิปเตอร์บ้านไร่(3) : Lightnin’ Hopkins

ฮิปเตอร์บ้านไร่(3) : Lightnin’ Hopkins

ฮิปเตอร์บ้านไร่(3) : Lightnin’ Hopkins

สวัสดีครับ ช่วงนี้ดูเหมือนเราจะวนๆเวียนๆอยู่ที่ศิลปินจากเท็กซัสไม่ว่าจะเป็นสองพี่น้องตระกูล Vaughan หรือ Freddie King ไหนๆก็ไหนๆแล้วก็จะขออนุญาตเขียนถึงศิลปินจากเท็กซัสอีกคนที่มีอิทธิพลมากๆต่อศิลปินบลูส์ยุคต่อมานั่นคือ Lightnin’ Hopkins ครับ ซึ่งผมเองได้พูดถึงไว้นิดหน่อยในตอนที่เขียนเกี่ยวกับสองพี่น้องตระกูล Vaughan ว่าเขาคนนี้เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญในเรื่องของวิธีการเล่นของ Jimmie Vaughan ที่ตรงนี้เองก็ส่งผลโดยตรงกับ SRV ซึ่งเป็นน้องชายอีกต่อหนึ่ง ตรงนี้เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันต้องบอกไว้ก่อนนะครับว่าผมไม่ได้หมายถึงว่าศิลปินท่านอื่นๆไม่ได้มีอิทธิพลกับสองพี่น้องคนนี้มากมาย แต่ในแง่หนึ่งการเล่นริทึ่มที่น่าสนใจและอาจจะซับซ้อนกว่าศิลปินอิเล็คทริคบลูส์คนอื่นๆนั้น ชัดเจนว่าเป็นอิทธิพลของ Lightnin’ Hopkins ครับ  

พอนึกว่าจะเขียนเรื่องของ Lightnin’ แล้วก็อดไม่ได้ครับที่จะเอามารวมไว้ในหัวข้อฮิปเสตอร์บ้านไร่ เพราะอะไรน่ะเหรอครับ? ก็เพราะว่าวงการบลูส์ในยุคนั้นถ้าพูดถึงเรื่องสไตล์การแต่งตัว บุคลิกความไหลลื่นและเป็นธรรมชาติในการแสดงดนตรี ความเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ชั้นเยี่ยมทั้งที่มักจะใช้แค่อคูสติคกีตาร์เพียงตัวเดียวทำการแสดงผมว่าไม่น่าจะมีใครเกินเขาคนนี้ เราลองมาดูคลิปที่เขาพูดถึงดนตรีบลูส์กันครับ  

   

นั่นล่ะครับ แว่นดำที่เราจะเห็นเขาสวมอยู่แทบตลอดเวลา เสื้อผ้าที่ไม่เป็นที่คุ้นชินตามแบบของคนบลูส์ในยุคนั้นที่เรามักจะเห็นกัน แต่เราจะเห็นเขาใส่เสื้อเชิ้ตลำลองสบายๆ หรือไม่ก็เสื้อคอเต่ากับสเว็ตเตอร์ นั่งลงพร้อมกับอคูสติคกีตาร์แล้วก็เล่นบลูส์ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกให้เราฟัง ดูๆไปแล้วก็รู้สึกว่าเท่จริงๆครับ  

แทบตลอดชีวิตของเขานั้นมักจะวนๆเวียนๆอยู่ที่เท็กซัส ตัวเขาเองนั้นค่อนข้างที่จะประสบความสำเร็จ ถึงแม้จะไม่ได้ดังเปรี้ยงปร้างอย่างเพื่อนร่วมรุ่นหรือแม้แต่รุ่นน้องในชิคาโก้ที่จับกลุ่มกันพัฒนาดนตรีบลูส์ไปในทิศทางของการเล่นเต็มวง เล่นเป็นอิเล็คทริคมากกว่าอคูสติค แต่เขาเองที่ยืนหยัดเล่นอคูสติคบลูส์ด้วยกีตาร์เพียงตัวเดียวมาตลอดก็ไม่เคยตกอับ มีผลงานอัดเสียงออกมาอย่างสม่าเสมอมากมาย หนำซ้ำยังได้รับการยอมรับในระดับที่ดีพอสมควรอีกด้วย   เรื่องของสไตล์การเล่นนั้น ถึงเขาจะนับได้ว่าอยู่ร่วมรุ่นกันกันศิลปินอคูสติคบลูส์ระดับตำนานคนอื่นๆหลายท่านไม่ว่าจะเป็น Son House, Robert Johnson แต่การเล่นในแบบเฉพาะตัวที่เขาพัฒนาขึ้นมานั้นในความเห็นส่วนตัวของผมแล้วถือว่าเป็นสะพานเชื่อมที่สำคัญอันหนึ่งในการพัฒนาการเล่นบลูส์จากอคูสติคกีตาร์ขึ้นมาสู่กีตาร์ไฟฟ้า เนื่องจากการเล่นหลายๆอย่างของเขานั้นเริ่มมีความคิดที่หลุดออกมาจากกรอบการเล่นอคูสติคบลูส์แบบเดิมๆที่ได้อิทธิพลมาจากโฟล์คอีกทอดหนึ่ง หากเราสังเกตุให้ดีก็จะเห็นว่า Licks และการเล่นริทึ่มของเขานั้นหากใครศึกษาก็สามารถนำมาใช้บนกีตาร์ไฟฟ้าได้เลยแทบจะทันที ซึ่งตรงนี้เองจะแตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัดจากศิลปินอคูสติคบลูส์คนอื่นๆที่วิธีการเล่นนั้นจะไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้บนกีตาร์หรือการเล่นกับแบนด์ได้โดยตรง ตรงนี้นี่เองครับที่ผมมองว่าคือความสำคัญของนิยามแห่งความคูลจากเท็กซัสคนนี้ Lightnin’ Hopkins ครับ.

The Texas Strats

The Texas Strats

The Texas Strats

สวัสดีครับ ห่างหายกันไปพักนึงเลย วันนี้ย้ายที่อยู่เสร็จแล้วจัดการเรื่องอินเตอร์เน็ตเรียบร้อยก็เป็นอันว่าพร้อมที่จะเขียนอะไรมาให้อ่านกันครับ กำลังหาหัวข้อที่จะเขียนก็พอดีนึกขึ้นได้ว่าเมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมาถือเป็นวันครบรอบ 29 ปีการจากไปของสุดยอดมือกีตาร์ที่เป็นที่หนึ่งในใจใครหลายๆคนซึ่งก็คือ Stevie Ray Vaughan ก็คงเป็นโอกาสที่ดีที่จะเขียนอะไรถึงมือกีตาร์ระดับตำนานคนนี้เสียหน่อยครับ  

ผมทำเพจมาสักพักนึงแฟนบลูส์บางท่านที่ติดตามอยู่อาจจะสงสัยว่าเอ๊ะ นี่เค้าจะทำเพจบลูส์ทำไมยังไม่มีเรื่องของตำนานอย่าง SRV โผล่มาซักที ผมเป็นแฟนบลูส์จริงๆหรือเปล่า หรือผมมี bias อะไรในใจมั้ย ตรงนี้ก็ต้องขอเรียนตรงนี้ครับว่ามันมีเหตุผลหลายๆประการที่ผมคิดว่าเรื่องของ SRV นั้นคอยได้ หลักๆก็คือ 1. ไม่มีสื่อบลูส์ไหนที่ไม่พูดเรื่องของ SRV – แค่ตรงนี้ก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้วครับที่ทำให้ผมไม่ต้องรีบร้อนที่จะกล่าวถึงเขาคนนี้มากนัก ท่านสามารถหาอ่านเรื่องของตำนานคนนี้ได้แทบทุกที่ที่พูดเรื่องของกีตาร์และดนตรีบลูส์ 2. ดนตรีของ SRV นั้นแม้จะมีบลูส์เป็นส่วนผสมหลักแต่ก็ไม่ใช่บลูส์แท้ๆในแบบ traditional หากพิจารณาแบบตรงไปตรงมาก็จะเห็นได้ชัดว่าเพลงของเขาทุกๆเพลงนั้นมี element ของดนตรีร็อคผสมอยู่อย่างเข้มข้นและชัดเจน นอกจากนี้ยังมี Soul, Jazz และ Funky เข้ามาเป็นส่วนผสมในสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นผมจึงเห็นว่าการตั้งต้นที่กีตาร์ฮีโร่อย่าง SRV แล้วปะยี่ห้อว่านี่คือบลูส์แท้ๆนั้นจะทำให้ขอบเขตการรับรู้ของท่านผู้อ่านเกี่ยวกับดนตรีบลูส์ผิดเพี้ยนไปได้ เพราะก่อนหน้าที่แนวดนตรีหลายๆแนวข้างต้นจะหลอมรวมกลั่นออกมาเป็นเสียงกีตาร์ระดับตำนานผ่านการบรรเลงของ SRV นั้น มีบลูส์แท้ๆที่กำเนิดก่อนหน้านั้นมานานและมากมายหลายแบบที่ควรค่าแก่การเรียนรู้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเสียก่อน และอันที่จริงแล้วตรงนี้ยังช่วยทำให้เรามองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าการเล่นที่นำเอาแรงบันดาลใจจากหลายๆทิศหลายๆทางมาหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ SRV นั้นพิเศษอย่างไร  

ขึ้นชื่อว่าเป็นข้อเขียนของ Bangkok Mojo ก็ต้องนำเสนอข้อมูลในมุมที่แตกต่างออกไปบ้างเพื่อประโยชน์ของท่านผู้อ่านเองที่จะได้รับรู้ข้อมูลที่หลากหลาย วันนี้ผมก็จะเสนอเรื่องราวของ SRV ในมุมที่ต่างออกไปให้อ่านกันครับ  

ย้อนกลับไปสมัยผมอยู่ม.3, ม.4 ซึ่งเป็นช่วงที่รู้จัก SRV ใหม่ๆ เรื่องของความตื่นเต้นและความคลั่งใคล้คงไม่ต้องบอกนะครับ เราๆท่านๆทราบกันดีว่าดนตรีของเขานั้นสามารถต่อสายตรงถึงต่อมควบคุมการหลั่งสารอะดรินาลีน แค่ได้ฟังอินโทรแค่โน้ตสองโน้ตเราก็รู้ได้ทันทีว่าคนๆนี้ไม่ธรรมดา ส่วนลูกโซโล่นั้นคงไม่ต้องพูดถึงครับ เราๆท่านๆรู้กันดี ตอนนั้นนึกย้อนกลับไปสำหรับตัวผมเองแล้วมือกีตาร์กี่คนๆที่รู้จักนั้นไม่ว่าจะดังแค่ไหน เมื่อเปรียบเทียบกับ SRV แล้วยังไงๆก็ไม่เห็นฝุ่นเลยจริงๆครับ ตรงนี้ท่านผู้อ่านหลายๆท่านคงเข้าใจความรู้สึกนี้เป็นอย่างดี คนๆนี้เขาเป็น ultimate package จริงๆ ผมเองในตอนนั้นอยากรู้เรื่องราวของเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก็จะพยายามหาอ่านจากทุกที่เท่าที่จะทำได้ อ่านไปๆก็ได้รู้ว่าเขามีพี่ชายอีกคนหนึ่งชื่อว่า Jimmie Lee Vaughan ซึ่งก็เป็นมือกีตาร์เหมือนกัน ตอนนั้นตื่นเต้นมากครับ อยากรู้ว่าน้องชายขนาดนี้แล้วพี่ชายจะขนาดไหน ก็เลยพยายามหางานของ JLV มาฟัง ความรู้สึกแรกน่ะเหรอครับ? ผมว่าทุกท่านรู้ดีครับ “นี่เค้าเล่นกีตาร์เป็นจริงๆหรือเปล่า?” “นี่เป็นพี่น้องกันไม่ได้เรียนรู้อะไรจากน้องบ้างเหรอ?” นี่เลยครับความรู้สึกแรกที่ได้ฟังงานของ JLV มองย้อนกลับไปถึงตอนนั้นก็ทำให้รู้สึกละอายใจเล็กๆครับ ที่คิดว่าตัวเองเป็นแฟนบลูส์แต่ที่จริงแล้วความชอบนั้นจำกัดอยู่แค่กีตาร์ฮีโร่ที่ติดสำเนียงบลูส์เท่านั้น…  

พูดมาขนาดนี้ก็ต้องขยายความครับว่าที่พูดไปหมายถึงอะไร อันดับแรกก็ต้องย้อนกลับไปพูดถึง JLV สักหน่อยนึงครับ หลังจากผิดหวังกับสิ่งที่ได้ยินในตอนนั้น ในใจก็ยังค้างคามาตลอดว่าพี่ชายที่ SRV มักจะยกย่องให้เป็นแรงบันดาลใจหลักแทบในทุกบทสัมภาษณ์นั้น จริงๆแล้วมีดียังไง ศึกษาไปเรื่อยๆสุดท้ายก็มาถึงบางอ้อครับ เมื่อได้รู้จักงานยุคแรกๆของเขาที่ทำร่วมกับวงบลูส์ร็อคจากเท็กซัสที่ชื่อว่า The Fabulous Thunderbirds วงนี้มีสมาชิกเพียงแค่สี่คนและมีกีตาร์เพียงแค่ตัวเดียว นั่นหมายถึง JLV นั้นต้องรับภาระในการเล่นริทึ่มควบคู่ไปกับการโซโล่ตลอดเวลา ตรงนี้ต้องบอกเลยครับว่างานภาคริทึ่มของเขาในยุคนี้นั้นถือว่าเป็นมาสเตอร์พีซเลยจริงๆ โดยธรรมชาติแล้ว JLV นั้นไม่เคยเล่นรกมาแต่ไหนแต่ไรครับ เขาจะเป็นคนชอบซาวนด์ไปทางคลีน แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือในการเล่นที่สะอาดของเขานั้นสามารถเติมเต็มภาคริทึ่มของวงบลูส์ร็อคสี่ชิ้นได้อย่างพอดิบพอดี ฟังไปคิดไปก็ยิ่งถึงบางอ้อครับว่าการเล่นแบบนี้นี่เองที่ SRV เอาไปต่อยอดเพิ่มความดุดัน ความซับซ้อน และบรรเลงด้วยซาวนด์ที่กระเดียดไปทางร็อคมากกว่า(อิทธิพลของจิมมี่ เฮนดริกซ์) ทำให้เขาสามารถเติมเต็มซาวนด์ของวงได้ด้วยตัวคนเดียวแม้จะลดขนาดวงลงเป็นทริโอก็ตาม (*เขียนมาตรงนี้ก็จะขอฝากความเห็นไว้หน่อยครับว่าสำหรับผมสิ่งที่แยก SRV ออกจากมือกีตาร์บลูส์คนอื่นๆอย่างเด่นชัดนั้นไม่ใช่แค่ความดุดัน ไม่ใช่เพียงซาวนด์กีตาร์ที่ยากจะเลียนแบบเท่านั้น แต่ที่สุดแล้วจริงๆคือ groove ของเขาและวิธีการเล่นริทึ่มของเขาซึ่งต้องบอกว่าพิเศษและเป็นส่วนตัวมากๆครับ)

แล้วสองพี่น้องนี้เขาไปเอาวิธีการเล่นแบบนี้มาจากไหน? เมื่อเกิดคำถามแบบนี้ขึ้นมาผมก็ลองไปค้นหาคำตอบ ซึ่งก็ได้ความมาว่า influence หลักในการเล่นกีตาร์ในลักษณะนี้ มันคืออย่างหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของตำนานบลูส์ของเท็กซัสยุคก่อนหน้าที่ชื่อว่า Lightnin’ Hopkins นั่นเองครับ การเล่นทำนองด้วยสามสายบนควบคู่ไปกับการเดินเบสบนสามสายล่างสอดรับกันไปมาบน groove ที่แข็งแรงในลักษณะนี้นี่เองครับที่สองพี่น้องตระกูล Vaughan นำไปประยุกต์ใช้บนกีตาร์ไฟฟ้าสร้างเป็นซาวนด์ใหม่เกิดเป็นวิธีการเล่นที่น่าสนใจและยากที่จะเลียนแบบ  เราลองมาดู Jimmie Vaughan และ B.B. King พูดถึง Lightnin’ Hopkins ในคลิปนี้ครับ

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดีมากๆครับที่แสดงให้เห็นว่าการเสียเวลาศึกษาของเก่าหรือรากฐานของสิ่งที่เราชอบนั้นไม่เคยเสียเปล่า สองพี่น้องที่เป็นตำนานของ electric blues นั้นกลับมีวิธีการเล่นที่แตกยอดออกมาจากการศึกษา acoustic blues อย่างจริงจัง เพียงเท่านี้ก็คงบอกอะไรเราได้หลายๆอย่าง อย่างที่ฝรั่งเขาว่า “you are what you eat” เราบริโภคอะไรเราก็กลายเป็นอย่างนั้นครับ อย่าง SRV นั้นเป็นส่วนผสมของอะไรหลายๆอย่างไม่ว่าจะเป็น พื้นฐานการเล่นริทึ่มที่ได้มาจากพี่ชาย ซึ่งได้มาจาก Lightnin’ Hopkins อีกทีหนึ่ง จังหวะ shuffle มือขวาที่ laid back ในสไตล์ของ Jimmy Reed อิทธิพลการเล่นกีตาร์ไฟฟ้าจาก Jimi Hendrix, Lonnie Mack และ Albert King และการเล่นบลูส์แจ๊สในสไตล์ของ Kenny Burrell เหล่านี้หากท่านจะศึกษางานของเขาให้เข้าใจก็ดูจะใจแคบไปหน่อยที่จะไม่ศึกษาที่มาที่ไปและแรงบันดาลใจของฮีโร่ของเราด้วย  

You are what you eat ครับ.

ฮิปสเตอร์บ้านไร่(2) : RL BURNSIDE

ฮิปสเตอร์บ้านไร่(2) : RL BURNSIDE

ฮิปสเตอร์บ้านไร่(2) : RL BURNSIDE

หายหน้าไปหลายวันกับการพยายามทำซิงเกิ้ลแรกของวงตัวเอง ตอนนี้เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ขอกลับมาเขียนหัวข้อที่ค้างคาเอาไว้ครับ ฮิปสเตอร์บ้านไร่วันนี้ขอพูดถึงตัวแสบอีกคนหนึ่ง(ทางด้านงานดนตรี)ของวงการที่เริ่มต้นชีวิตนักดนตรีจากท้องทุ่งทางตอนเหนือของมิสซิสซิปปี้แต่อัลบั้มก่อนเสียชีวิตนั้นกลับมีกลิ่นอายอิเลคทรอนิคส์และฮิปฮอปอย่างเข้มข้น! คนนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้ครับนอกจาก RL Burnside ครับ  

ผมเองมีโอกาสได้รู้เรื่องราวเกี่ยวศิลปินท่านนี้ผ่านทางสารคดีที่นักดนตรีชาติพันธุ์ชาวอเมริกันชื่อ Alan Lomax ได้จัดทำไว้และผู้นำมาแบ่งตอนลงไว้ในยูทูบภายใต้ชื่อ Alan Lomax Archive ซึ่งมาเนื้อหาเยอะมากๆและมีศิลปินสำคัญๆหลายคนอยู่ในนั้น น่าสนใจและน่าติดตามศึกษามากๆครับหากท่านผู้อ่านอยากทราบถึงที่มาที่ไปของดนตรีที่มาจากชาวแอฟริกัน-อเมริกัน แนวทางการเล่นของ RL ในยุคแรกๆนั้นเป็นลักษณะ percussive กล่าวคือจะเน้นด้านจังหวะเป็นหลัก(จริงๆแล้วแทบจะพูดได้ว่ามากกว่าหรืออย่างน้อยๆก็พอๆกันกับเมโลดี้) ซึ่งเมื่อฟังแล้วสำหรับผมบางครั้งก็พาลจะนึกถึงดนตรีแอฟริกันแท้ๆเอาได้ง่ายๆ ใครๆเขาก็ว่าบลูส์มาจากแอฟริกันมิวสิคแต่บลูส์ที่เราๆคุ้นกันนั้นก็พัฒนาไปไกล แต่สำหรับงานของ RL ในยุคแรกๆนั้นผมว่าเป็นอะไรที่ยืนยันคำพูดนี้ได้เป็นอย่างดีครับ

ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านจะรู้สึกแบบเดียวกันหรือเปล่านะครับ แต่ตอนดูคลิปนี้เป็นครั้งแรกนี่ผมรู้สึกประทับใจมาก ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีใครเล่นเพลงคอร์ดเดียวให้เท่ขนาดนี้ได้ ความเก๋าทะลุจอมากๆครับ อีกอย่างก็คือว่าดนตรีแบบนี้ ฉากหลังแบบนี้คิดถึงอะไรที่เราคุ้นเคยกันมั้ยครับ?  

ครั้งแรกที่ผมได้ดูคลิปนี้มันมีอะไรหลายๆอย่างที่พาให้ผมหวนกลับมานึกถึงดนตรีพื้นบ้านอีสานครับ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางดนตรีที่เน้นริทึ่มมากกว่าเมโลดี้ การยืนคอร์ดเดียวตลอดทั้งเพลงหรือที่เรียกว่า Drone หรือสเกลเพนทาทอนิคที่ใช้ หรือไม่ว่าจะเป็นภูมิทัศน์ที่ดูๆไปก็มีความคล้ายคลึงกันหลายๆอย่าง อย่างดินลูกรัง มีรั้วลวดหนามที่แบ่งอาณาเขตอย่างคร่าวๆ และทุ่งหญ้าแห้งๆ คนพื้นถิ่นทั่วโลกบางทีมีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมได้อย่างน่าตกใจเหมือนกันครับ  

RL นั้นเริ่มต้นจากการเป็นนักดนตรีท้องถิ่นที่สุดท้ายก็ไปแสวงโชคในเมืองใหญ่อย่างชิคาโก้ตามอย่างนักดนตรีคนอื่นร่วมยุคร่วมสมัย แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรมากมายนักอาจจะเป็นด้วยว่าแนวดนตรีที่เขาเล่นนั้นไม่ได้เหมาะกับเมืองใหญ่อย่างชิคาโก้ที่ขณะนั้นกำลังจะขยับไปสู่บลูส์ที่ดังขึ้น เข้มข้นขึ้น น่าตื่นเต้นขึ้นอย่างดนตรีของค่าย Chess Records ในเวลาต่อมา อยู่ที่ชิคาโก้เพียงสองสามปีไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเขาก็เป็นอันต้องย้ายกลับไปอยู่ทางใต้เหมือนเดิม ช่วงกลางของชีวิตนั้น RL ต้องทำอะไรหลายๆอย่างไปพร้อมๆกันเพื่อประทังชีวิต ถึงจะไม่อดอยากแต่ก็ไม่ได้ร่ำรวยครับ เล่นดนตรีในลักษณะพาร์ทไทม์เสียเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งก็เปิดบาร์เล็กๆบ้าง โดยระหว่างนั้นก็ทำการเกษตรคู่กันไปโดยตลอด(Alan Lomax ได้ตามไปอัดสารคดีถึงบ้านของเขาในช่วงนี้ครับ) ความสำเร็จทางด้านยอดขายเพลงของเขานั้นตามมาในช่วงสิบกว่าปีสุดท้ายของชีวิตครับ จากการเข้าร่วมงานกับค่าย Fat Possum Records ซึ่งอัลบั้มในช่วงนี้ได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่บวกเป็นอย่างมากทั้งจากแฟนเพลงและนักวิจารณ์ ยิ่งไปกว่านั้นการร่วมงานกับ Jon Spencer ตามมาด้วย Tom Rothrock ในภายหลังได้ผลักดนตรีบลูส์ดิบๆในแบบดั้งเดิมของ RL ออกไปไกลจนเหยียบย่างขอบเขตของเทคโนและฮิปฮอปแต่กลับผสมผสานกันได้อย่างลงตัว เราลองย้อนกลับไปดูคลิปด้านบนอีกครั้ง แล้วลองมาฟังอัลบั้มสุดท้ายในชีวิตของเขาเปรียบเทียบกันเป็นการปิดท้าย แบบนี้ไม่ให้เรียกว่าฮิปก็ไม่รู้ว่าไงแล้วครับ!

ฮิปสเตอร์บ้านไร่(1) : Slim Harpo

ฮิปสเตอร์บ้านไร่(1) : Slim Harpo

ฮิปสเตอร์บ้านไร่(1) : Slim Harpo

วันนี้ตั้งใจจะเขียนเรื่องศิลปินบลูส์นอกกระแสครับ ซึ่งเป็นผลมาจากบทสนทนากับพี่ๆช่วงสองสามวันที่ผ่านมาถึงความคล้ายคลึงของเพลงบลูส์บางลักษณะกับเพลงลูกทุ่งของเราในช่วงยุค 60’s – 70’s พูดแล้วผมก็จะนึกถึงพวกบลูส์กระแสรองโดยอัตโนมัติ อันนี้จริงจะว่าไปศิลปินเหล่านี้ในสมัยนั้นเขาก็ประสบความสำเร็จกันพอสมควรนะครับ บางคนในช่วงเวลาเดียวกันยอดขายดีกว่าก็อดฟาเธอร์ของวงการบลูส์อย่างมัดดี้ วอเตอร์สด้วยซ้ำ มาถึงตรงนี้อาจจะเป็นโอกาสดีที่จะได้แจกแจงนิดนึงครับว่าการยึดเอาบลูส์ในแบบของมัดดี้หรือที่เรียกกันว่าชิคาโก้บลูส์เป็นสแตนดาร์ดของบลูส์เลยนั้น จริงๆแล้วทำไม่ได้เพราะชื่อก็บอกอยู่ครับว่ามันเป็นบลูส์ของเมืองชิคาโก้ ในอเมริกานั้นมี 50 รัฐและแต่ละรัฐนั้นก็มีหลายเมืองท่านผู้อ่านลองคิดดูสิครับว่าวัฒนธรรมพื้นถิ่นจะต่างกันได้ขนาดไหน บลูส์ในฟอร์แมตที่เราคุ้นกันว่าเป็น 12 bar blues, มีนักร้องนำกึ่งร้องกึ่งตะโกน และเสียงกีตาร์แตกๆนั้น เป็นรูปแบบที่เริ่มต้นที่ชิคาโก้และได้รับการพัฒนาต่อยอดมากที่สุดด้วยเหตุผลหลายๆอย่าง แต่ในเวลาเดียวกันห่างออกไปเป็นพันๆไมล์ไม่ว่าจะเป็นทางใต้ ทางตะวันออก หรือตะวันตกบลูส์ที่กำลังเกิดขึ้นอาจจะแตกต่างออกไปอย่างมากก็เป็นได้  

วกกลับมาเข้าหัวข้อของวันนี้พอพูดถึงความคล้ายคลึงกับเพลงลูกทุ่งของเราเมื่อสี่สิบ-ห้าสิบปีก่อน ชื่อแรกๆที่โผล่ขึ้นมาในหัวคือ Slim Harpo ครับ ทำไมต้อง Slim Harpo? คนนี้นี่ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่าเขาไม่เหมือนใครจริงๆครับ ถ้าเป็นศัพท์วัยรุ่นสมัยนี้ก็ต้องเรียก ฮิปสเตอร์ตัวพ่อ อะไรประมาณนั้นเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การแต่งตัวหรือแอตติจูดในการทำเพลง เขาเป็นคนแรกๆที่ช่วยทำให้เกิดซาวนด์ในแบบ Swamp Blues ซึ่งเป็นบลูส์ที่เกิดจาก Louisiana (Swamp หมายถึงดินแดนชุ่มน้ำซึ่งเป็นลักษณะเด่นทางธรณีวิทยาของ Louisiana) บลูส์ในลักษณะนี้ต่างจากบลูส์กระแสหลักพอสมควรเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจังหวะที่มีความหลากหลายกว่า และมักจะเล่นกันแบบหลวมๆสบายๆ(laid back) จังหวะ Shuffle ในแบบชิคาโก้นั้นแทบไม่มีเลยครับ ฟอร์มของเพลงนั้นก็มักจะมีอะไรที่นอกเหนือจาก 12 bar blues และบ่อยครั้งที่ก็เป็นไปได้จะยืนคอร์ดเดียวไปจนจบเพลง(ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่คล้ายคลึงกับเพลงลูกทุ่งและหมอลำของไทยครับ) เนื้อหาของเพลงถ้าเป็นเรื่องของความโกรธแค้นแทบไม่มีให้เห็น อาจจะมีเศร้าบ้าง แต่ Slim Harpo นั้นแม้กระทั่งการขอให้แฟนเกาหลังให้เขาก็เอาไปแต่งเป็นเพลงมาแล้ว(Baby Scratch My Back) แถมขึ้นชาร์ตเสียด้วย! นอกจากนี้แล้ววิธีการร้องเพลงของเขาก็ต่างออกไปจากบลูส์กระแสหลักอย่างสิ้นเชิง อันที่จริงเรียกว่ากึ่งร้องกึ่งพูดก็น่าจะเห็นภาพชัดเจนกว่า ทั้งหมดนี้รวมกันพูดเป็นศัพท์วัยรุ่นอีกสักทีก็คงต้องบอกว่า ลุงสลิมแกชิลจริงๆครับ!

ลักษณะเฉพาะที่แตกต่างออกไปอย่างมากจากบลูส์กระแสหลักแบบนี้บางทีมันก็มีลักษณะบางอย่างที่คล้ายคลึงกับเพลงลูกทุ่งบ้านเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นซาวนด์ดนตรี เนื้อหาหยิกแกมหยอก บรรยากาศโดยรวมที่ค่อนข้าง laid back

เรามาลองฟังเพลงนี้ดูครับ Tip On In ฟังแล้วลองจินตนาการเปลี่ยนเสียงร้องเป็นภาษาอีสานเล่าเรื่องราวอะไรก็ได้สนุกๆ ผมรับประกันว่าเห็นภาพครับ!  

วันนี้ขออนุญาติแถมอีกคลิปเป็นของไวพจน์ เพชรสุพรรณ ลองฟังดูครับ คิดแล้วบางทีก็ยังเสียดายว่าดนตรีบ้านเรายุคนั้นก็ใช่ย่อย แต่ยุคหนึ่งถูกมองเป็นของเชย ตอนนี้ถ้าใครเริ่มมองเห็นจุดเชื่อมระหว่างดนตรีบลูส์ฮิปๆแบบนี้กับวัฒนธรรมบ้านเราเกิดเป็นไอเดียจะทำเพลงแบบนี้ออกมาคงเท่ไม่เบาครับ.