Thrill Is Gone

Thrill Is Gone

สวัสดีแฟนเพจและท่านผู้อ่านทุกท่านครับ ผมเขียนบทความอันนี้ทิ้งไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมาแต่กว่าจะเคลียร์ธุระต่างๆนานามาเขียนต่อให้จบได้ก็ปาเข้าไปร่วมสัปดาห์ หากท่านผู้อ่านได้มีโอกาสใช้เว็บไซต์กูเกิ้ลในวันที่ 16 ที่ผ่านมาก็คงจะได้เห็นการ tribute เล็กๆน้อยๆที่กูเกิ้ลมักจะทำให้กับบุคคลและเหตุการณ์ระดับโลกที่มีชื่อเรียกเล่นๆว่าดูเดิ้ลกันนะครับ ดูเดิ้ลของวันที่ 16 ที่ผ่านมาเกี่ยวข้องกับพวกเราชาวบลูส์ก็ตรงที่ว่ามันเป็นวันครบรอบวันเกิดของราชาแห่งเพลงบลูส์ร่วมสมัย B.B. King นั่นเองครับ ซึ่งหากเขายังมีชีวิตอยู่วันนี้ก็จะเป็นวันครบรอบอายุ 94 ปีพอดีครับ

พอพูดถึงบีบีคิงท่านผู้อ่านนึกถึงอะไรกันบ้าง..? บุคลิกคุณตาใจดี, กีตาร์คู่ใจสีดำที่ชื่อว่า Lucille, หรือเพลงบางเพลงที่ท่านผู้อ่านชอบเป็นพิเศษครับ? สำหรับตัวผมเองนั้นบีบีคิงเองถึงแม้จะมีลักษณะเด่นให้เป็นที่จดจำหลายอย่าง แต่อย่างแรกเลยที่ผมจะนึกขึ้นมาก่อนเสมอเมื่อนึกถึงบีบีคิงก็คือเพลงฮิตที่สุดของเขา Thrill Is Gone นั่นเองครับ ซึ่งก็เป็นที่มาของเรื่องที่ผมจะเขียนเนื่องในโอกาสครบรอบวันเกิดของราชาเพลงบลูส์คนนี้ครับ

ในบรรดาศิลปินบลูส์ที่เป็นตำนานทั้งหมดในความเห็นของผมเองนั้น บีบีคิงเป็นสะพานเชื่อมที่โดดเด่นที่สุดที่ทำให้ดนตรีบลูส์เข้าถึงคนหมู่มากได้จริงๆ และสามารถทำได้โดยการใช้เพลงบลูส์จริงๆแต่ผสมผสานการตีความและการเรียบเรียงที่ร่วมสมัยเรื่อยมาจนทำให้แม้คนที่ไม่รู้จักหรือสนใจดนตรีบลูส์อย่างน้อยๆก็ต้องเคยได้ยินเพลงหรือชื่อเสียงของบีบีคิง ตรงนี้น่าสนใจมากๆครับ เพราะถ้าเราจะพิจารณาศิลปินกลุ่มอื่นๆที่มีส่วนช่วยให้ดนตรีบลูส์อยู่รอดผ่านกาลเวลามาได้นั้น เราจะพบว่า Impact ที่มีต่อผู้ฟังในวงกว้างนั้นอาจจะไม่สามารถเทียบเท่ากับสิ่งที่บีบีคิงทำได้ด้วย Thrill Is Gone เพียงเพลงเดียวด้วยซ้ำไป เขียนมาอย่างนี้บางท่านอาจจะแย้งในใจว่าผมมองข้ามศิลปินดังๆไปเป็นจำนวนมากอย่างเหมารวมได้อย่างไร ตรงนี้ขออนุญาตอธิบายอย่างนี้ครับ

ถ้าเรามองในภาพรวมว่าโดยหลักๆเรามีสองกลุ่มนักดนตรีบลูส์ที่มีอิทธิพต่อความนิยมของดนตรีชนิดนี้คือกลุ่มนักดนตรีผิวดำรุ่นบุกเบิก และกลุ่มนักดนตรีผิวขาวที่นำเอาดนตรีบลูส์ไปผสมผสานกับแนวดนตรีอื่นๆนับตั้งแต่ช่วงปี 60s เรื่อยมาซึ่งถือเป็นการต่อชีวิตดนตรีบลูส์โดยทางอ้อมนั้น ไม่ว่าจะพิจารณานักดนตรีคนไหนหรือกลุ่มไหนเราก็จะเห็นว่านักดนตรีส่วนใหญ่จะยึดติดอยู่กับสไตล์ที่ตนถูกสอนมา หรือสไตล์ที่ตนหรือวงได้พัฒนาขึ้นมา มีนักดนตรีส่วนน้อยมากที่จะสามารถพัฒนาคลี่คลายตามยุคสมัยเรื่อยมา และห่างออกไปจากจุดเริ่มต้นของตนเองได้มากเท่ากับบีบีคิง มิหนำซ้ำยังสามารถเข้าถึงคนหมู่มากได้มากขึ้นเรื่อยๆตามยุคสมัย

สำหรับผมแล้วเพลงอย่าง Thrill Is Gone เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดครับ..

บีบีคิงนั้นนับได้ว่าร่วมรุ่นกันกับตำนานบลูส์ผิวดำยุคอิเล็คทริคบลูส์ทุกคนที่เราๆพอจะนึกกันออกครับ แต่ในขณะที่ศิลปินบลูส์ส่วนใหญ่เลือกที่จะยึดติดกับฟอร์แม็ตของเพลงบลูส์แบบ traditional นั้น บีบีคิงน่าจะเป็นคนแรกๆที่เลือกเอาเฉพาะวิธีการร้อง และการโซโล่แบบถามตอบ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดประการหนึ่งของบลูส์ นำเอกลักษณ์ตรงนี้ถอดออกไปรวมกับทางคอร์ดที่อาจจะต่างจากขนบไปบ้าง และเปิดทางให้กรูฟใหม่ๆอื่นเข้ามาเป็นส่วนประกอบของตัวเพลงบ้าง ผลลัพธ์ก็คือเพลงบลูส์สแตนดาร์ดแบบใหม่ในสไตล์ของบีบีคิง ที่มีความพิเศษในการที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลาตามยุคสมัยอย่าง Thrill Is Gone เพลงนี้เป็นต้นครับ และอีกอย่างหนึ่งที่หลายๆท่านอาจจะยังไม่รู้ก็คือ เพลงนี้ไม่ได้เป็นเพลงออริจินอลของบีบีครับ!

เพลงนี้ต้นฉบับนั้นเป็น slow blues จากปี ’51 ของ Roy Hawkins ครับ ซึ่งหากฟังดูแล้วก็เป็นเพลงที่ดีแต่ก็ไม่โดดเด่นอะไรมาก แต่วิธีการเล่าเรื่อง(เนื้อเพลง)ของเพลงนี้จะว่าไปแล้วก็ถือว่าค่อนข้างแตกต่างกว่าเพลงบลูส์ในสมัยนั้นที่ยังตรงไปตรงมาและมักจะนิยมพูดถึงเหล้า ยา และอาชญากรรมอยู่พอสมควร วิธีการเล่นเรื่องที่อ่อนละมุนกว่าของเพลงนี้นั้นดูๆไปก็มีกลิ่นของโซลผสมเข้ามาอยู่บ้าง บีบีเองอาจจะเห็นความแตกต่างในจุดนี้ว่าเขาจะสามารถนำพาวัตถุดิบตรงนี้นำเสนอให้กลุ่มคนฟังที่กว้างขึ้นโดยยังสามารถคงเอกลักษณ์ของบลูส์ไว้ครบถ้วนได้อย่างไร และเมื่อเขานำเนื้อร้องที่เป็นบลูส์เพิ่มวิธีการร้องที่ได้อิทธิพลจากดนตรีโซลมาผสม รวมกับภาคริทึ่มที่กระเดียดไปทางโซล จึงเกิดขึ้นเป็น Thrill Is Gone ในเวอร์ชั่นของเขาจากอัลบั้ม Completely Well ในปี 1969 ซึ่งส่งผลให้เขาได้รับรางวัล Grammy Awards ในปีถัดไป และอย่างที่เราก็ได้ทราบกันมาถึงทุกวันนี้ว่านี่คือหนึ่งใน Single ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของบีบีคิง นับเป็นบลูส์สแตนดาร์ดเพลงแรกๆที่ทำลายกรอบเดิมของบลูส์ได้อย่างแนบเนียน

บทเพลงนี้ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นก็ได้พิสูจน์ตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยการถูกนำไปบรรเลง ร่วมกับศิลปินต่างๆมากมายหลายแนวผ่านระยะเวลาหลายทศวรรษจวบจนวาระสุดท้ายของบีบีคิง… ขึ้นหิ้งเป็นบทเพลงอมตะอย่างไม่มีข้อสงสัย ถึงแม้ในบทเพลงเพลงนั้นจะกล่าวไว้ว่า Thrill Is Gone และเจ้าของบทเพลงเองก็ได้จากพวกเราไปแล้ว แต่ “Thrill” หรือความตื่นเต้นที่เกิดจากการที่บทเพลงนี้ได้บุกเบิกแนวทางใหม่ๆให้กับวงการบลูส์นั้นจะยังอยู่กับพวกเราไปอีกนานครับ

*วันนี้ขออนุญาตแถมเป็นพิเศษอีกสักหนึ่งคลิป ถึงแม้คุณภาพอาจจะไม่ดีเท่าไหร่แต่ความพิเศษของคลิปนี้นอกจากศิลปินที่มาร่วมบรรเลงแล้วก็อยากให้ท่านผู้อ่านลองสังเกตุตรงนาทีที่ 2:30 อยากจะบอกว่า… อบอุ่นหัวใจจริงๆครับ

The Texas Strats

The Texas Strats

The Texas Strats

สวัสดีครับ ห่างหายกันไปพักนึงเลย วันนี้ย้ายที่อยู่เสร็จแล้วจัดการเรื่องอินเตอร์เน็ตเรียบร้อยก็เป็นอันว่าพร้อมที่จะเขียนอะไรมาให้อ่านกันครับ กำลังหาหัวข้อที่จะเขียนก็พอดีนึกขึ้นได้ว่าเมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมาถือเป็นวันครบรอบ 29 ปีการจากไปของสุดยอดมือกีตาร์ที่เป็นที่หนึ่งในใจใครหลายๆคนซึ่งก็คือ Stevie Ray Vaughan ก็คงเป็นโอกาสที่ดีที่จะเขียนอะไรถึงมือกีตาร์ระดับตำนานคนนี้เสียหน่อยครับ  

ผมทำเพจมาสักพักนึงแฟนบลูส์บางท่านที่ติดตามอยู่อาจจะสงสัยว่าเอ๊ะ นี่เค้าจะทำเพจบลูส์ทำไมยังไม่มีเรื่องของตำนานอย่าง SRV โผล่มาซักที ผมเป็นแฟนบลูส์จริงๆหรือเปล่า หรือผมมี bias อะไรในใจมั้ย ตรงนี้ก็ต้องขอเรียนตรงนี้ครับว่ามันมีเหตุผลหลายๆประการที่ผมคิดว่าเรื่องของ SRV นั้นคอยได้ หลักๆก็คือ 1. ไม่มีสื่อบลูส์ไหนที่ไม่พูดเรื่องของ SRV – แค่ตรงนี้ก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้วครับที่ทำให้ผมไม่ต้องรีบร้อนที่จะกล่าวถึงเขาคนนี้มากนัก ท่านสามารถหาอ่านเรื่องของตำนานคนนี้ได้แทบทุกที่ที่พูดเรื่องของกีตาร์และดนตรีบลูส์ 2. ดนตรีของ SRV นั้นแม้จะมีบลูส์เป็นส่วนผสมหลักแต่ก็ไม่ใช่บลูส์แท้ๆในแบบ traditional หากพิจารณาแบบตรงไปตรงมาก็จะเห็นได้ชัดว่าเพลงของเขาทุกๆเพลงนั้นมี element ของดนตรีร็อคผสมอยู่อย่างเข้มข้นและชัดเจน นอกจากนี้ยังมี Soul, Jazz และ Funky เข้ามาเป็นส่วนผสมในสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นผมจึงเห็นว่าการตั้งต้นที่กีตาร์ฮีโร่อย่าง SRV แล้วปะยี่ห้อว่านี่คือบลูส์แท้ๆนั้นจะทำให้ขอบเขตการรับรู้ของท่านผู้อ่านเกี่ยวกับดนตรีบลูส์ผิดเพี้ยนไปได้ เพราะก่อนหน้าที่แนวดนตรีหลายๆแนวข้างต้นจะหลอมรวมกลั่นออกมาเป็นเสียงกีตาร์ระดับตำนานผ่านการบรรเลงของ SRV นั้น มีบลูส์แท้ๆที่กำเนิดก่อนหน้านั้นมานานและมากมายหลายแบบที่ควรค่าแก่การเรียนรู้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเสียก่อน และอันที่จริงแล้วตรงนี้ยังช่วยทำให้เรามองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าการเล่นที่นำเอาแรงบันดาลใจจากหลายๆทิศหลายๆทางมาหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ SRV นั้นพิเศษอย่างไร  

ขึ้นชื่อว่าเป็นข้อเขียนของ Bangkok Mojo ก็ต้องนำเสนอข้อมูลในมุมที่แตกต่างออกไปบ้างเพื่อประโยชน์ของท่านผู้อ่านเองที่จะได้รับรู้ข้อมูลที่หลากหลาย วันนี้ผมก็จะเสนอเรื่องราวของ SRV ในมุมที่ต่างออกไปให้อ่านกันครับ  

ย้อนกลับไปสมัยผมอยู่ม.3, ม.4 ซึ่งเป็นช่วงที่รู้จัก SRV ใหม่ๆ เรื่องของความตื่นเต้นและความคลั่งใคล้คงไม่ต้องบอกนะครับ เราๆท่านๆทราบกันดีว่าดนตรีของเขานั้นสามารถต่อสายตรงถึงต่อมควบคุมการหลั่งสารอะดรินาลีน แค่ได้ฟังอินโทรแค่โน้ตสองโน้ตเราก็รู้ได้ทันทีว่าคนๆนี้ไม่ธรรมดา ส่วนลูกโซโล่นั้นคงไม่ต้องพูดถึงครับ เราๆท่านๆรู้กันดี ตอนนั้นนึกย้อนกลับไปสำหรับตัวผมเองแล้วมือกีตาร์กี่คนๆที่รู้จักนั้นไม่ว่าจะดังแค่ไหน เมื่อเปรียบเทียบกับ SRV แล้วยังไงๆก็ไม่เห็นฝุ่นเลยจริงๆครับ ตรงนี้ท่านผู้อ่านหลายๆท่านคงเข้าใจความรู้สึกนี้เป็นอย่างดี คนๆนี้เขาเป็น ultimate package จริงๆ ผมเองในตอนนั้นอยากรู้เรื่องราวของเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก็จะพยายามหาอ่านจากทุกที่เท่าที่จะทำได้ อ่านไปๆก็ได้รู้ว่าเขามีพี่ชายอีกคนหนึ่งชื่อว่า Jimmie Lee Vaughan ซึ่งก็เป็นมือกีตาร์เหมือนกัน ตอนนั้นตื่นเต้นมากครับ อยากรู้ว่าน้องชายขนาดนี้แล้วพี่ชายจะขนาดไหน ก็เลยพยายามหางานของ JLV มาฟัง ความรู้สึกแรกน่ะเหรอครับ? ผมว่าทุกท่านรู้ดีครับ “นี่เค้าเล่นกีตาร์เป็นจริงๆหรือเปล่า?” “นี่เป็นพี่น้องกันไม่ได้เรียนรู้อะไรจากน้องบ้างเหรอ?” นี่เลยครับความรู้สึกแรกที่ได้ฟังงานของ JLV มองย้อนกลับไปถึงตอนนั้นก็ทำให้รู้สึกละอายใจเล็กๆครับ ที่คิดว่าตัวเองเป็นแฟนบลูส์แต่ที่จริงแล้วความชอบนั้นจำกัดอยู่แค่กีตาร์ฮีโร่ที่ติดสำเนียงบลูส์เท่านั้น…  

พูดมาขนาดนี้ก็ต้องขยายความครับว่าที่พูดไปหมายถึงอะไร อันดับแรกก็ต้องย้อนกลับไปพูดถึง JLV สักหน่อยนึงครับ หลังจากผิดหวังกับสิ่งที่ได้ยินในตอนนั้น ในใจก็ยังค้างคามาตลอดว่าพี่ชายที่ SRV มักจะยกย่องให้เป็นแรงบันดาลใจหลักแทบในทุกบทสัมภาษณ์นั้น จริงๆแล้วมีดียังไง ศึกษาไปเรื่อยๆสุดท้ายก็มาถึงบางอ้อครับ เมื่อได้รู้จักงานยุคแรกๆของเขาที่ทำร่วมกับวงบลูส์ร็อคจากเท็กซัสที่ชื่อว่า The Fabulous Thunderbirds วงนี้มีสมาชิกเพียงแค่สี่คนและมีกีตาร์เพียงแค่ตัวเดียว นั่นหมายถึง JLV นั้นต้องรับภาระในการเล่นริทึ่มควบคู่ไปกับการโซโล่ตลอดเวลา ตรงนี้ต้องบอกเลยครับว่างานภาคริทึ่มของเขาในยุคนี้นั้นถือว่าเป็นมาสเตอร์พีซเลยจริงๆ โดยธรรมชาติแล้ว JLV นั้นไม่เคยเล่นรกมาแต่ไหนแต่ไรครับ เขาจะเป็นคนชอบซาวนด์ไปทางคลีน แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือในการเล่นที่สะอาดของเขานั้นสามารถเติมเต็มภาคริทึ่มของวงบลูส์ร็อคสี่ชิ้นได้อย่างพอดิบพอดี ฟังไปคิดไปก็ยิ่งถึงบางอ้อครับว่าการเล่นแบบนี้นี่เองที่ SRV เอาไปต่อยอดเพิ่มความดุดัน ความซับซ้อน และบรรเลงด้วยซาวนด์ที่กระเดียดไปทางร็อคมากกว่า(อิทธิพลของจิมมี่ เฮนดริกซ์) ทำให้เขาสามารถเติมเต็มซาวนด์ของวงได้ด้วยตัวคนเดียวแม้จะลดขนาดวงลงเป็นทริโอก็ตาม (*เขียนมาตรงนี้ก็จะขอฝากความเห็นไว้หน่อยครับว่าสำหรับผมสิ่งที่แยก SRV ออกจากมือกีตาร์บลูส์คนอื่นๆอย่างเด่นชัดนั้นไม่ใช่แค่ความดุดัน ไม่ใช่เพียงซาวนด์กีตาร์ที่ยากจะเลียนแบบเท่านั้น แต่ที่สุดแล้วจริงๆคือ groove ของเขาและวิธีการเล่นริทึ่มของเขาซึ่งต้องบอกว่าพิเศษและเป็นส่วนตัวมากๆครับ)

แล้วสองพี่น้องนี้เขาไปเอาวิธีการเล่นแบบนี้มาจากไหน? เมื่อเกิดคำถามแบบนี้ขึ้นมาผมก็ลองไปค้นหาคำตอบ ซึ่งก็ได้ความมาว่า influence หลักในการเล่นกีตาร์ในลักษณะนี้ มันคืออย่างหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของตำนานบลูส์ของเท็กซัสยุคก่อนหน้าที่ชื่อว่า Lightnin’ Hopkins นั่นเองครับ การเล่นทำนองด้วยสามสายบนควบคู่ไปกับการเดินเบสบนสามสายล่างสอดรับกันไปมาบน groove ที่แข็งแรงในลักษณะนี้นี่เองครับที่สองพี่น้องตระกูล Vaughan นำไปประยุกต์ใช้บนกีตาร์ไฟฟ้าสร้างเป็นซาวนด์ใหม่เกิดเป็นวิธีการเล่นที่น่าสนใจและยากที่จะเลียนแบบ  เราลองมาดู Jimmie Vaughan และ B.B. King พูดถึง Lightnin’ Hopkins ในคลิปนี้ครับ

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดีมากๆครับที่แสดงให้เห็นว่าการเสียเวลาศึกษาของเก่าหรือรากฐานของสิ่งที่เราชอบนั้นไม่เคยเสียเปล่า สองพี่น้องที่เป็นตำนานของ electric blues นั้นกลับมีวิธีการเล่นที่แตกยอดออกมาจากการศึกษา acoustic blues อย่างจริงจัง เพียงเท่านี้ก็คงบอกอะไรเราได้หลายๆอย่าง อย่างที่ฝรั่งเขาว่า “you are what you eat” เราบริโภคอะไรเราก็กลายเป็นอย่างนั้นครับ อย่าง SRV นั้นเป็นส่วนผสมของอะไรหลายๆอย่างไม่ว่าจะเป็น พื้นฐานการเล่นริทึ่มที่ได้มาจากพี่ชาย ซึ่งได้มาจาก Lightnin’ Hopkins อีกทีหนึ่ง จังหวะ shuffle มือขวาที่ laid back ในสไตล์ของ Jimmy Reed อิทธิพลการเล่นกีตาร์ไฟฟ้าจาก Jimi Hendrix, Lonnie Mack และ Albert King และการเล่นบลูส์แจ๊สในสไตล์ของ Kenny Burrell เหล่านี้หากท่านจะศึกษางานของเขาให้เข้าใจก็ดูจะใจแคบไปหน่อยที่จะไม่ศึกษาที่มาที่ไปและแรงบันดาลใจของฮีโร่ของเราด้วย  

You are what you eat ครับ.

Keeping the Blues alive

Keeping the Blues alive

Keeping the Blues alive

สวัสดีครับ พบกันอีกครั้งกับข้อเขียนจากคอลัมน์ “บลูส์รำพึง” ที่ตั้งใจไว้ว่าจะเป็นคอลัมน์ที่อยากจะเขียนเรื่องอะไรก็เขียน ทำนองว่าคิดไปเขียนไปประมาณนั้น อะไรมากระทบความคิดถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับบลูส์และคิดว่าน่าสนใจพอผมก็จะเอามาเขียนไว้ในนี้ครับ  

วันนี้จั่วหัวไว้ว่า “Keeping The Blues Alive” แล้วก็ตั้งใจเอาคลิปวิดีโอแปะไว้ก่อนเลย แทนที่จะปิดท้ายอย่างผ่านๆมาเพราะอยากที่จะเอาคลิปอันนี้เป็นจุดตั้งต้นครับ ศิลปินในคลิปนี้คือ Igor Prado และวงของเขา สถานที่คือร้านชื่อ Blues City Deli ใน St. Louis ครับ คลิปนี้พิเศษยังไง? ทำไมถึงอยากเอาคลิปเป็นจุดเริ่มต้นบทความ? ก็ต้องบอกอย่างนี้ครับ ว่าถ้าไม่นับความเก่งกาจของตัว Igor Prado และวงของเขาซึ่งเห็นได้ชัดแล้วนั้น สิ่งที่ผมสังเกตุเห็นและค่อนข้างประทับใจในคลิปนี้ก็คือ นี่คือวงบลูส์จากบราซิลที่พูดภาษาอังกฤษยังติดสำเนียงละตินแต่เป็นที่รู้กันว่าเป็นวงที่เล่นบลูส์ในแบบเทรดิชั่นได้อย่างไม่มีที่ติ กำลังเล่นเพลงฮิตจากปี ’52 ของ Rosco Gordon ในร้านอาหารในเมือง St. Louis ให้กับลูกค้าซึ่งเป็นอเมริกัน (ใช่ครับ! Blues City Deli คือร้านอาหารที่ดังเสียด้วย แต่บังเอิญว่าเจ้าของดันเป็นแฟนบลูส์ตัวยงเลยมักจะจัดงานเชิญนักดนตรีที่เขาชื่นชอบมาเล่นอยู่เรื่อยๆ) และที่สำคัญมันเกิดขึ้นในเวลากลางวัน จากคลิปที่ผมแปะไว้ด้านบนซึ่งดูเผินๆเหมือนไม่มีอะไร แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าแทบทุกบริบทนั้นแตกต่างไปจาก set up เดิมๆสำหรับการออกไปฟังบลูส์ในแบบที่เราคุ้นชินกันพอสมควร แต่หากทุกอย่างที่พอเหมาะพอเจาะมารวมกัน(นักดนตรีที่ดี, ผู้ฟังที่เข้าใจ, เจ้าของสถานประกอบการที่พร้อมสนับสนุน) ช่วงเวลาดีๆที่มีดนตรีบลูส์เป็นแบ็คกราวนด์ก็เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา  

สำหรับในบ้านเรานั้นไม่รู้ว่าเริ่มที่ไหน เมื่อไหร่ แต่เราๆท่านๆก็ชินกับภาพของบลูส์คลับที่เต็มไปด้วยขี้เมาและควันบุหรี่ set list ที่แต่ละวงมีนั้นก็มักจะมีเพลงซ้ำกันอยู่ไม่มากก็น้อยจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ สร้างสถานการณ์ที่แทบไม่มีตัวเลือกให้กับทั้งนักดนตรีและผู้ฟัง มันเป็นงูกินหางครับไม่มีที่มาที่ไปไม่มีใครผิด นักดนตรีไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆเพราะกลัวลูกค้าไม่สนใจ ลูกค้าก็เลยรู้จักเพลงน้อยลงๆเพราะนักดนตรีเล่นแต่เพลงเดิมๆ เป็นวงจรที่ไม่สร้างสรรค์เลยครับสำหรับนักดนตรีที่อยากเล่นดนตรีจริงจัง โดยเฉพาะแนวดนตรีที่เป็นกระแสรองอยู่แล้วอย่างดนตรีบลูส์ ทั้งๆที่ความหลากหลายในดนตรีบลูส์นั้นจริงๆแล้วมีอยู่มากพอให้เลือกฟังเลือกศึกษา และมันก็จะเป็นเรื่องดีมากๆถ้าขอบเขตของการเสพดนตรีบลูส์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเวลากลางคืนและ set list ซ้ำๆ อคูสติคบลูส์ในร้านกาแฟตอนกลางวันก็เข้าท่านะผมว่า หรือบลูส์แจมตอนบ่ายๆวันเสาร์หรืออาทิตย์นี่ถ้าถามผมตอนนี้คิดว่าน่าสนใจกว่าไปเดินจตุจักร ทุกวันนี้บางทีทางเข้ามันก็มีแค่ทางเดียวแคบๆอย่างมือกีตาร์ถ้าเล่นไม่ได้อย่าง SRV, Hendrix, Clapton แทบไม่กล้าขึ้นแจม บางทีก็ชวนสงสัยว่าแล้วถ้ามันมีใครที่ชอบต่างไปจากนี้ล่ะ? ชีวิตนี้บางทีวันก็สั้นเกินกว่าจะไปทำตามมาตรฐานที่ใครก็ไม่รู้ตั้งไว้นะครับ ลองคิดง่ายๆถ้ามีวงหลายๆวงที่ศึกษาในแต่ละแนวทางให้เกิดเป็นสุ้มเสียงเฉพาะของวงไปเลยก็คงน่าสนใจดีวงนี้เล่น Swamp Blues, วงนี้เล่น Swing Blues, วงนี้เล่นบลูส์ร็อค, วงนี้เล่นคลาสสิคบลูส์ ถ้าเมื่อไหร่มีอย่างนี้ได้วงการบลูส์คงคึกคักน่าดูครับ  

เขียนมาจนใกล้จบก็ต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่าไม่ได้เขียนตำหนิความเป็นไปของวงการนะครับ แต่เขียนด้วยความหวังว่าหากมีวงดนตรีใหม่ๆ หรือสถานประกอบการไหนที่อยากจะลองมองนอกกรอบทำอะไรใหม่ๆแทนที่จะมองมุมเดียวว่าความแตกต่างเป็นเรื่องเสี่ยง แต่บางทีการหลีกหนีจากความจำเจมาเริ่มทำอะไรใหม่เป็นคนแรกๆอาจจะให้ผลลัพธ์ที่คุณคาดไม่ถึงก็ได้ อย่างเขาว่าเป็นหัวหมาดีกว่าเป็นหางเสือครับ.

Blow Wind Blow

Blow Wind Blow

Blow Wind Blow

วันนี้ไม่ทราบว่าลมฟ้าอากาศที่อื่นๆเป็นอย่างไรกันบ้างนะครับ แต่ที่นนท์ฯที่ผมอยู่นี่ออกจะผิดปรกติอยู่สักหน่อย หน้าฝนแท้ๆฟ้าก็มืดแต่ฝนดันไม่ยอมตก แต่ลมนี่พัดแทบไม่หยุดมาสามสี่วันแล้วครับ เห็นอย่างนี้เลยเอามาเป็นหัวเรื่องของคอลัมน์ “บลูส์รำพึง” ที่จะเขียนวันนี้เสียเลย   ลมพัดไม่หยุดแบบนี้สำหรับผมเพลงบลูส์เพลงนี้แว่บขึ้นมาในหัวเป็นอันดับแรกเลยครับ “Blow Wind Blow” เพลงของมัดดี้ วอเตอร์สที่อัดเสียงครั้งแรกไว้ในปี 1953 ครับ เพลงนี้นักดนตรีสายชิคาโก้บลูส์นำไปคัฟเวอร์กันบ่อยครับ เวอร์ชั่นอื่นๆที่น่าฟังก็จะเป็นของลูกศิษย์ลูกหา(หรือว่าลูกวงเก่า)ของมัดดี้ที่นำไปคัฟเวอร์หลังจากแยกตัวออกไปทำโปรเจคท์ของตัวเองนั่นเองครับ ไม่ว่าจะเป็น James Cotton, Jimmy Rogers, Mojo Buford, Sam Lay หรือ Mud Morganfield ลูกชายของมัดดี้เอง ส่วนคนดังที่สุดที่เคยนำเพลงนี้ไปคัฟเวอร์ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนอีริค แคลปตันนั่นเองครับ  

เวอร์ชั่นที่ผมแนบมาในคลิปนี่เป็นช่วงของการกลับมามีชื่อเสียงเป็นระลอกสองของมัดดี้ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระแส British Invasion ซึ่งตรงนี้ก็ตลกดีนะครับเพราะว่าคนที่เป็นเป็นแรงบันดาลใจให้วงอังกฤษเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Rolling Stones, Cream, Jimi Hendrix, John Mayall ก็คือมัดดี้และกลุ่มนักดนตรีจาก Chess Records นั่นเอง  

พูดถึงลักษณะการทำวงของมัดดี้นี่จะว่าไปก็เด่นอยู่อย่างหนึ่งคือลักษณะการเป็นจ่าฝูงเป็นผู้นำของเขานี่ชัดเจนมากๆครับ บารมีของเขานั้นรู้สึกได้จริงๆ และการเลือกนักดนตรีมาร่วมวงไม่ว่าจะตำแหน่งไหน และในยุคสมัยไหนนั้นจัดได้ว่าสายตาแหลมคมเสมอ ตั้งแต่วงแรกของมัดดี้ที่อัดเพลงให้กับ Chess Records จนมาถึงวงสุดท้ายนั้นนักดนตรีทุกตำแหน่งเรียกได้ว่าตำนานของวงการจริงๆครับ ลองไล่กันเล่นๆนะครับเอาแค่มือฮาร์โมนิก้าก็จะมี Little Walter, Junior Wells, Big Walter, George Smith, James Cotton, Mojo Buford, Paul Oscher, Carey Bell, Jerry Portnoy ทุกคนจบจากสถาบันมัดดี้ไปนี่เรียกได้ว่าระดับหัวหน้าวงกันทั้งนั้นครับ หากท่านผู้อ่านสนใจก็ลองติดตามหางานฟังเรียงชื่อไปเลยครับ แล้วลองเช็คเครดิตดูว่าใครเป็นใคร ใครมาช่วยงานของใคร เราจะได้เห็นภาพ Family Tree ของชิคาโก้บลูส์ที่มีภาพของมัดดี้เป็นปู่ทวดชัดเจนเลยครับ

ลองมาดูในคลิปนี้ซึ่งเป็นคลิปที่มาจากการแสดงสดในปี 1976 ที่ Dortmund, Germany เรื่องที่ผมอยากพูดถึงก็คือการรวมวงในแบบชิคาโก้แท้ๆที่มัดดี้และเพื่อนๆนักดนตรีเป็นคนวางรากฐานเอาไว้ตั้งแต่สมัยที่ยังอยู่ Chess Records ครับ จะเห็นได้ว่าเวลาผ่านไปเกือบยี่สิบปีมัดดี้ก็ยังทำวงเหมือนเดิมครับ พลังและเสน่ห์ของชิคาโก้บลูส์ก็ไม่ได้ลดลงไปเลย เสน่ห์ที่ว่านั้นมาจากการที่ทำแต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองโดยไม่ล้ำขอบเขตของคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันตัวโน้ตเหล่านั้นก็สอดประสานกันอย่างถูกที่ถูกทาง มัดดี้เองมักจะเล่นกีตาร์ไฟฟ้าในลักษณะเดียวกันกับที่เขาเคยเล่นอคูสติคซึ่งหลักๆก็คือการ accompany การร้องของตัวเองนั่นเอง ความแข็งแรงของริทึ่มนั้นสร้างมาจากด้านหลังของวงซึ่งในที่นี้ก็คือ Willie “Big eyes” Smith มือกลองและ Calvin Jones มือเบส ซึ่งการเล่นของทั้งคู่นั้นจะเน้นการสร้างริทึ่มที่กระชับและแข็งแรงตรงไปตรงมามากกว่าที่จะสร้างอะไรที่ซับซ้อน ในขณะที่ Bob Margolin มือกีตาร์และ Pinetop Perkins มือเปียโนก็จะเป็นตัวเชื่อมเติมเต็มช่องว่างระหว่างริทึ่มและการซัพพอร์ตมัดดี้ ส่วน Jerry Portnoy นั้นก็จะเล่นในลักษณะถาม – ตอบกับ phrasing ในการร้องของมัดดี้ตลอดเวลา อยากให้ผู้อ่านลองสังเกตุดูครับ ทั้งหมดนี้เมื่อเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน มันคือความสวยงามของชิคาโก้บลูส์ครับ ความกระชับ ความสร้างสรรค์ที่อยู่ในความมีระเบียบ พลังที่อยู่ในขอบเขต และนี่คือศาสตร์บลูส์แห่งเมืองเหนือที่มัดดี้เป็นคนวางรากฐานเอาไว้ครับ

รายชื่อนักดนตรีในคลิป Muddy Waters(V,Gt), Bob Margolin(Gt), Calvin Jones(B), Pinetop Perkins(Pn), Jerry Portnoy(H), Willie “Big eyes” Smith(D)

Rain

Rain

Rain

เริ่มเขียนให้กับ Bangkok Mojo อย่างเป็นทางการในหน้าฝน ผมก็เลยอยากจะเขียนอะไรเกี่ยวกับฝนสักหน่อย แต่ก่อนอื่นขออนุญาตอธิบายไว้ตรงนี้สักนิดหนึ่งครับ ว่าเราแพลนที่จะมีคอลัมน์เกี่ยวกับบลูส์ในหลายลักษณะ และคอลัมน์ บลูส์รำพึง ที่ผมเขียนอยู่นี้ก็จะเป็นบทความที่สัพเพเหระสักหน่อย ประมาณว่าช่วงที่เขียนอยู่นึกถึงเรื่องอะไรก็จะเขียนถึงเรื่องนั้น แต่ก็รับรองได้ครับว่าหากท่านผู้อ่านสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีบลูส์เราจะไม่ทำให้ท่านเสียเวลารูดมือถือหรือนั่งหน้าคอมฯโดยเปล่าประโยชน์แน่นอน

ขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้เมฆผนกำลังตั้งเค้า ลมพัดกลิ่นฝนมาแตะจมูกแล้ว ก็ทำให้นึกดีใจว่าชงกาแฟได้ถูกเวลาจริงๆ บ่ายนี้คงได้จิบกาแฟไปทำงานไปพร้อมกับฝนที่ตกอยู่ด้านนอก เพลินน่าดูครับ ว่าแล้วก็เอื้อมมือไปหยิบโทรศัพท์มือถือเพื่อเปิดเพลงเคล้าบรรยากาศ(ผมก็หนึ่งคนที่ติดนิสัยฟังเพลงผ่านทาง streaming ไปเรียบร้อย) บังเอิญจริงๆที่หนึ่งในเพลงที่แอพพลิเคชั่นมันสุ่มขึ้นมาคือเพลงที่ชื่อว่า “Rain” ของวงที่ชื่อว่า “Little Charlie & The Nightcats” ครับ เหมาะเจาะจริงๆเลยจะถือโอกาสนี้พูดถึงวงนี้เสียเลย

เพลงนี้มาจากอัลบั้มแสดงสดชื่อว่า “Captured Live” ครับ แต่งโดยนักร้องนำและมือฮาร์โมนิก้าของวง Rick Estrin ส่วนกีตาร์นั้นบรรเลงโดยหัวหน้าวง Charlie Baty ก็คงจะพอเดาได้นะครับว่าชื่อวงก็ตั้งตามชื่อของเขานั่นเอง วงนี้มีเรื่องให้พูดถึงเยอะครับ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการแต่งเพลงของ Rick Estrin อันนี้ต้องยกให้เขาเลยครับ เพราะว่าตั้งแต่ตั้งวงมาในปี 1987 จนมาถึงปัจจุบัน วงนี้แทบไม่เคย cover เพลงของใครเลยทั้งๆที่เป็นเรื่องปรกติมากๆในวงการบลูส์ เพลงของวงนี้เกินกว่า 90% คือปลายปากกาของเขาคนนี้ล้วนๆครับ อีกอย่างถ้าใครฟังภาษาอังกฤษเข้าใจหรือจะลองแปลเพลงของวงนี้ดู จะพบว่าฝีมือการเล่าเรื่อง หักมุม แทรกมุขตลกซึ่งเป็นลักษณะเด่นของเขานี่ไม่ธรรมดาเอามากๆครับ นอกจากนี้ฝีมือการเป่าฮาร์โมนิก้าของ Rick ตอนนี้ต้องถือได้ว่าเป็นตำนานของวงการคนนึงแล้วครับ ถือเป็น frontman ที่ครบเครื่องมากๆ ส่วนหัวหน้าวง/มือกีตาร์ Charlie Baty นั้นในวงการ Traditional Blues นั้นก็อยู่ในระดับปรมาจารย์คนหนึ่งครับ เรียกว่าไม่มีอะไรที่เขาเล่นไม่ได้ ลักษณะเด่นของการอิมโพรไวส์ของชาร์ลีนั้นคือความน่าตื่นเต้นและสดใหม่ตลอดเวลาครับ ไม่ใช่ผู้เล่นแบบ lick ต่อ lick แต่จะคิดสดๆตรงนั้นเลยจริงๆ เป็นคนที่เล่นกีตาร์ซนและสร้างสรรค์มากๆครับ วงนี้หลักๆคือสองคนนี้ครับก่อนที่ Charlie จะหยุดเล่นไปในลักษณะกึ่งรีไทร์เพราะไม่อยากเดินทางบ่อยๆ ทุกวันนี้หากท่านไหนอยากติดตามผมงานของวงนี้ก็สามารถติดตามได้ในชื่อ Rick Estrin & The Nightcats ครับ ทางวงยังมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมือกีตาร์ที่มาแรงที่สุดคนหนึ่งในวงการ Kid Andersen ครับ ซึ่งคนนี้ก็น่าสนใจมากๆสักวันคงมีโอกาสได้เขียนถึงเขาให้ได้อ่านกันครับ.

*หากโทนกีตาร์ของ Charlie Baty ในคลิปจะทำให้บางท่านคิดไปถึงโทนของเทพกีตาร์ SRV นั่นคือความคล้ายคลึงที่เกิดจาก combination นี้ครับ Strat คอดำ, สาย Gauge .11, Fender Super Reverb (cranked) ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จที่นิยมกันพอสมควรในกลุ่มมือกีตาร์สาย Traditional Blues ครับ