The Texas Strats

by | Sep 2, 2019 | บลูส์รำพึง | 0 comments

สวัสดีครับ ห่างหายกันไปพักนึงเลย วันนี้ย้ายที่อยู่เสร็จแล้วจัดการเรื่องอินเตอร์เน็ตเรียบร้อยก็เป็นอันว่าพร้อมที่จะเขียนอะไรมาให้อ่านกันครับ กำลังหาหัวข้อที่จะเขียนก็พอดีนึกขึ้นได้ว่าเมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมาถือเป็นวันครบรอบ 29 ปีการจากไปของสุดยอดมือกีตาร์ที่เป็นที่หนึ่งในใจใครหลายๆคนซึ่งก็คือ Stevie Ray Vaughan ก็คงเป็นโอกาสที่ดีที่จะเขียนอะไรถึงมือกีตาร์ระดับตำนานคนนี้เสียหน่อยครับ  

ผมทำเพจมาสักพักนึงแฟนบลูส์บางท่านที่ติดตามอยู่อาจจะสงสัยว่าเอ๊ะ นี่เค้าจะทำเพจบลูส์ทำไมยังไม่มีเรื่องของตำนานอย่าง SRV โผล่มาซักที ผมเป็นแฟนบลูส์จริงๆหรือเปล่า หรือผมมี bias อะไรในใจมั้ย ตรงนี้ก็ต้องขอเรียนตรงนี้ครับว่ามันมีเหตุผลหลายๆประการที่ผมคิดว่าเรื่องของ SRV นั้นคอยได้ หลักๆก็คือ 1. ไม่มีสื่อบลูส์ไหนที่ไม่พูดเรื่องของ SRV – แค่ตรงนี้ก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้วครับที่ทำให้ผมไม่ต้องรีบร้อนที่จะกล่าวถึงเขาคนนี้มากนัก ท่านสามารถหาอ่านเรื่องของตำนานคนนี้ได้แทบทุกที่ที่พูดเรื่องของกีตาร์และดนตรีบลูส์ 2. ดนตรีของ SRV นั้นแม้จะมีบลูส์เป็นส่วนผสมหลักแต่ก็ไม่ใช่บลูส์แท้ๆในแบบ traditional หากพิจารณาแบบตรงไปตรงมาก็จะเห็นได้ชัดว่าเพลงของเขาทุกๆเพลงนั้นมี element ของดนตรีร็อคผสมอยู่อย่างเข้มข้นและชัดเจน นอกจากนี้ยังมี Soul, Jazz และ Funky เข้ามาเป็นส่วนผสมในสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นผมจึงเห็นว่าการตั้งต้นที่กีตาร์ฮีโร่อย่าง SRV แล้วปะยี่ห้อว่านี่คือบลูส์แท้ๆนั้นจะทำให้ขอบเขตการรับรู้ของท่านผู้อ่านเกี่ยวกับดนตรีบลูส์ผิดเพี้ยนไปได้ เพราะก่อนหน้าที่แนวดนตรีหลายๆแนวข้างต้นจะหลอมรวมกลั่นออกมาเป็นเสียงกีตาร์ระดับตำนานผ่านการบรรเลงของ SRV นั้น มีบลูส์แท้ๆที่กำเนิดก่อนหน้านั้นมานานและมากมายหลายแบบที่ควรค่าแก่การเรียนรู้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเสียก่อน และอันที่จริงแล้วตรงนี้ยังช่วยทำให้เรามองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าการเล่นที่นำเอาแรงบันดาลใจจากหลายๆทิศหลายๆทางมาหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ SRV นั้นพิเศษอย่างไร  

ขึ้นชื่อว่าเป็นข้อเขียนของ Bangkok Mojo ก็ต้องนำเสนอข้อมูลในมุมที่แตกต่างออกไปบ้างเพื่อประโยชน์ของท่านผู้อ่านเองที่จะได้รับรู้ข้อมูลที่หลากหลาย วันนี้ผมก็จะเสนอเรื่องราวของ SRV ในมุมที่ต่างออกไปให้อ่านกันครับ  

ย้อนกลับไปสมัยผมอยู่ม.3, ม.4 ซึ่งเป็นช่วงที่รู้จัก SRV ใหม่ๆ เรื่องของความตื่นเต้นและความคลั่งใคล้คงไม่ต้องบอกนะครับ เราๆท่านๆทราบกันดีว่าดนตรีของเขานั้นสามารถต่อสายตรงถึงต่อมควบคุมการหลั่งสารอะดรินาลีน แค่ได้ฟังอินโทรแค่โน้ตสองโน้ตเราก็รู้ได้ทันทีว่าคนๆนี้ไม่ธรรมดา ส่วนลูกโซโล่นั้นคงไม่ต้องพูดถึงครับ เราๆท่านๆรู้กันดี ตอนนั้นนึกย้อนกลับไปสำหรับตัวผมเองแล้วมือกีตาร์กี่คนๆที่รู้จักนั้นไม่ว่าจะดังแค่ไหน เมื่อเปรียบเทียบกับ SRV แล้วยังไงๆก็ไม่เห็นฝุ่นเลยจริงๆครับ ตรงนี้ท่านผู้อ่านหลายๆท่านคงเข้าใจความรู้สึกนี้เป็นอย่างดี คนๆนี้เขาเป็น ultimate package จริงๆ ผมเองในตอนนั้นอยากรู้เรื่องราวของเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก็จะพยายามหาอ่านจากทุกที่เท่าที่จะทำได้ อ่านไปๆก็ได้รู้ว่าเขามีพี่ชายอีกคนหนึ่งชื่อว่า Jimmie Lee Vaughan ซึ่งก็เป็นมือกีตาร์เหมือนกัน ตอนนั้นตื่นเต้นมากครับ อยากรู้ว่าน้องชายขนาดนี้แล้วพี่ชายจะขนาดไหน ก็เลยพยายามหางานของ JLV มาฟัง ความรู้สึกแรกน่ะเหรอครับ? ผมว่าทุกท่านรู้ดีครับ “นี่เค้าเล่นกีตาร์เป็นจริงๆหรือเปล่า?” “นี่เป็นพี่น้องกันไม่ได้เรียนรู้อะไรจากน้องบ้างเหรอ?” นี่เลยครับความรู้สึกแรกที่ได้ฟังงานของ JLV มองย้อนกลับไปถึงตอนนั้นก็ทำให้รู้สึกละอายใจเล็กๆครับ ที่คิดว่าตัวเองเป็นแฟนบลูส์แต่ที่จริงแล้วความชอบนั้นจำกัดอยู่แค่กีตาร์ฮีโร่ที่ติดสำเนียงบลูส์เท่านั้น…  

พูดมาขนาดนี้ก็ต้องขยายความครับว่าที่พูดไปหมายถึงอะไร อันดับแรกก็ต้องย้อนกลับไปพูดถึง JLV สักหน่อยนึงครับ หลังจากผิดหวังกับสิ่งที่ได้ยินในตอนนั้น ในใจก็ยังค้างคามาตลอดว่าพี่ชายที่ SRV มักจะยกย่องให้เป็นแรงบันดาลใจหลักแทบในทุกบทสัมภาษณ์นั้น จริงๆแล้วมีดียังไง ศึกษาไปเรื่อยๆสุดท้ายก็มาถึงบางอ้อครับ เมื่อได้รู้จักงานยุคแรกๆของเขาที่ทำร่วมกับวงบลูส์ร็อคจากเท็กซัสที่ชื่อว่า The Fabulous Thunderbirds วงนี้มีสมาชิกเพียงแค่สี่คนและมีกีตาร์เพียงแค่ตัวเดียว นั่นหมายถึง JLV นั้นต้องรับภาระในการเล่นริทึ่มควบคู่ไปกับการโซโล่ตลอดเวลา ตรงนี้ต้องบอกเลยครับว่างานภาคริทึ่มของเขาในยุคนี้นั้นถือว่าเป็นมาสเตอร์พีซเลยจริงๆ โดยธรรมชาติแล้ว JLV นั้นไม่เคยเล่นรกมาแต่ไหนแต่ไรครับ เขาจะเป็นคนชอบซาวนด์ไปทางคลีน แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือในการเล่นที่สะอาดของเขานั้นสามารถเติมเต็มภาคริทึ่มของวงบลูส์ร็อคสี่ชิ้นได้อย่างพอดิบพอดี ฟังไปคิดไปก็ยิ่งถึงบางอ้อครับว่าการเล่นแบบนี้นี่เองที่ SRV เอาไปต่อยอดเพิ่มความดุดัน ความซับซ้อน และบรรเลงด้วยซาวนด์ที่กระเดียดไปทางร็อคมากกว่า(อิทธิพลของจิมมี่ เฮนดริกซ์) ทำให้เขาสามารถเติมเต็มซาวนด์ของวงได้ด้วยตัวคนเดียวแม้จะลดขนาดวงลงเป็นทริโอก็ตาม (*เขียนมาตรงนี้ก็จะขอฝากความเห็นไว้หน่อยครับว่าสำหรับผมสิ่งที่แยก SRV ออกจากมือกีตาร์บลูส์คนอื่นๆอย่างเด่นชัดนั้นไม่ใช่แค่ความดุดัน ไม่ใช่เพียงซาวนด์กีตาร์ที่ยากจะเลียนแบบเท่านั้น แต่ที่สุดแล้วจริงๆคือ groove ของเขาและวิธีการเล่นริทึ่มของเขาซึ่งต้องบอกว่าพิเศษและเป็นส่วนตัวมากๆครับ)

แล้วสองพี่น้องนี้เขาไปเอาวิธีการเล่นแบบนี้มาจากไหน? เมื่อเกิดคำถามแบบนี้ขึ้นมาผมก็ลองไปค้นหาคำตอบ ซึ่งก็ได้ความมาว่า influence หลักในการเล่นกีตาร์ในลักษณะนี้ มันคืออย่างหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของตำนานบลูส์ของเท็กซัสยุคก่อนหน้าที่ชื่อว่า Lightnin’ Hopkins นั่นเองครับ การเล่นทำนองด้วยสามสายบนควบคู่ไปกับการเดินเบสบนสามสายล่างสอดรับกันไปมาบน groove ที่แข็งแรงในลักษณะนี้นี่เองครับที่สองพี่น้องตระกูล Vaughan นำไปประยุกต์ใช้บนกีตาร์ไฟฟ้าสร้างเป็นซาวนด์ใหม่เกิดเป็นวิธีการเล่นที่น่าสนใจและยากที่จะเลียนแบบ  เราลองมาดู Jimmie Vaughan และ B.B. King พูดถึง Lightnin’ Hopkins ในคลิปนี้ครับ

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดีมากๆครับที่แสดงให้เห็นว่าการเสียเวลาศึกษาของเก่าหรือรากฐานของสิ่งที่เราชอบนั้นไม่เคยเสียเปล่า สองพี่น้องที่เป็นตำนานของ electric blues นั้นกลับมีวิธีการเล่นที่แตกยอดออกมาจากการศึกษา acoustic blues อย่างจริงจัง เพียงเท่านี้ก็คงบอกอะไรเราได้หลายๆอย่าง อย่างที่ฝรั่งเขาว่า “you are what you eat” เราบริโภคอะไรเราก็กลายเป็นอย่างนั้นครับ อย่าง SRV นั้นเป็นส่วนผสมของอะไรหลายๆอย่างไม่ว่าจะเป็น พื้นฐานการเล่นริทึ่มที่ได้มาจากพี่ชาย ซึ่งได้มาจาก Lightnin’ Hopkins อีกทีหนึ่ง จังหวะ shuffle มือขวาที่ laid back ในสไตล์ของ Jimmy Reed อิทธิพลการเล่นกีตาร์ไฟฟ้าจาก Jimi Hendrix, Lonnie Mack และ Albert King และการเล่นบลูส์แจ๊สในสไตล์ของ Kenny Burrell เหล่านี้หากท่านจะศึกษางานของเขาให้เข้าใจก็ดูจะใจแคบไปหน่อยที่จะไม่ศึกษาที่มาที่ไปและแรงบันดาลใจของฮีโร่ของเราด้วย  

You are what you eat ครับ.