JIMMY ROGERS : LUDELLA

JIMMY ROGERS : LUDELLA

สวัสดีครับท่านผู้(ที่ยัง)อ่านงานเขียนของผม(ฮา!) หลังจากที่เฟซบุคบล็อคการแชร์บทความจากเว็บไซต์ของผมอยู่สองสามเดือน บวกกับเรื่องวุ่นวายทั้งหลายแหล่ในช่วงที่ผ่านมาสุดท้ายก็ทำให้เบรคไปรวมๆแล้วก็หลายเดือนอยู่ แต่ตอนนี้อะไรๆเข้าที่เข้าทางมากขึ้นเราก็ได้กลับมาว่ากันต่อครับ ความตั้งใจลึกๆนั้นไม่ได้สนใจจะเรียกหาความสนใจหรือยอดไลค์มากไปกว่าการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมบลูส์ที่รักและสนใจในดนตรีชนิดนี้อย่างจริงจัง ดังนั้นผมจะไม่กล่าวถึงหรือพยายามหยิบโยงบลูส์เข้ากับเรื่องราวของจิตวิญญาณมากนักถึงแม้ว่าจะเป็นกิมมิคที่กระตุ้นยอดไลค์ยอดแชร์ได้ดีมากๆก็ตามที อาจจะอ่านแล้วตื่นเต้นน้อยกว่าหน่อย แต่รับรองว่าจะเป็นเรื่องราวที่เป็นประโยชน์กับผู้ที่รักจะศึกษาดนตรีบลูส์ครับ

วันนี้โดยที่ไม่ได้ตั้งใจอยู่ๆก็นึกถึงอัลบั้มชิคาโก้บลูส์ที่ถือได้ว่าสุดยอดมากๆอัลบั้มหนึ่งของ Jimmy Rogers มือกีตาร์คู่บุญของมัดดี้ วอเตอร์สในยุคแรกเริ่ม อันที่จริงหากจะกล่าวว่าจิมมี่ รอเจอร์สคือหนึ่งในคนที่เป็นต้นกำเนิดของการเล่นกีตาร์ไฟฟ้าในแบบชิคาโกบลูส์จริงๆแล้วก็คงจะไม่ไกลจากความจริงมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราจะถือเอาไลน์อัพคลาสสิคของ Muddy Waters Band เป็นบรรทัดฐานที่มีอิทธิพลกับวงในยุคต่อๆมามากที่สุด เนื่องจากการเล่นซัพพอร์ตมัดดี้และลิตเติ้ล วอลเตอร์(harmonica) ในแบบของจิมมี่ในยุคนั้นถือว่าครบเครื่องและสวยงามมากๆ นอกจากการเปลี่ยนมาเล่นสไลด์บนกีตาร์ไฟฟ้าของมัดดี้แล้ว การปรับเปลี่ยนวิธีการเล่นอคูสติคบลูส์ให้มาเล่นบนกีตาร์ไฟฟ้าได้อย่างเหมาะเจาะของจิมมี่นี่แหละครับที่เป็นต้นแบบของชิคาโก้บลูส์ให้กับมือกีตาร์ในยุคต่อๆมา หากใครเคยได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Cadillac Records ช่วงที่มัดดี้เริ่มฟอร์มวง Headhunters ไปแย่งงานชาวบ้านเขาตามคลับต่างๆอันนั้นคือจุดเริ่มต้นซึ่งจิมมี่ก็คือหนึ่งในสามสมาชิกตั้งต้นของทีมนี้ซึ่งสุดท้ายคลี่คลายมาเป็น Muddy Waters Band นั่นเองครับ

คราวนี้มาพูดถึงอัลบั้มนี้กันสักหน่อยครับว่าพิเศษยังไงทำไมถึงเลือกมาแนะนำให้ฟังกัน อันที่จริงอัลบั้มนี้นั้นออกมาในปี 1990 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงบั้นปลายของชีวิตของจิมมี่แล้ว(เสียชีวิตในปี 1997) นี่คือช่วงการกลับมาทำงานดนตรีครั้งสุดท้ายหลังจากที่ห่างหายไปเป็นเวลานานของจิมมี่ ส่วนเพลงจากอัลบั้มนี้ก็คือเพลงเก่าที่เขาเคยปล่อยไปแล้วทั้งหมดในอดีต แต่การนำกลับมาทำใหม่ด้วยการรวมตัวของเพื่อนเก่าสุดยอดไซด์แมนจากชิคาโก้ในอดีตที่ยังทำงานดนตรีอยู่ในขณะนั้นไม่ว่าจะเป็น Pinetop Perkins(piano), Willie “Big Eyes” Smith(drums), Bob Stroger(Bass), Hubert Sumlin(Guest Guitarist) และ Kim Wilson (มือฮาร์โมนิก้าที่มาแทนที่ลิตเติ้ล วอลเตอร์ผู้ล่วงลับ)ได้อย่างดีเยี่ยมนั้นทำให้อัลบั้มนี้น่าสนใจมากๆครับ

อัลบั้มนี้ถึงแม้จะไม่ได้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เหมือนอย่างอัลบั้มคลาสสิคหลายๆอัลบั้มที่นักดนตรีระดับตำนานเหล่านี้เคยได้ร่วมบรรเลงในอดีต แต่นี่คืออัลบั้มที่ฟังสนุกมากๆและได้เห็นเสน่ห์ของชิคาโก้บลูส์แท้ๆได้อย่างชัดเจนเนื่องด้วยเทคนิคการอัดเสียงและการมิกซ์ในสมัยใหม่ เปรียบเสมือนการเอารูปเก่าขาวดำที่มีรอยด่างดำและมีสีซีดจางไปเข้าโปรแกรมบูรณะและออกมาเป็นภาพสีสดใสเห็นเราได้เห็นรายละเอียดที่อาจจะผ่านตาไปในตอนแรก

อัลบั้มนี้เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าก่อนที่ฟอร์แมตวงในแบบชิคาโก้บลูส์จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นวันแมนโชว์ และกลายเป็นบลูส์ร็อคในยุคต่อมาที่สมาชิกวงมีหน้าที่แบ็คอัพให้ฟรอนท์แมนโชว์ทักษะการโซโล่ให้โลกตะลึงนั้นลักษณะการรวมวง(ensemble)ในยุคแรกๆทุกคนจะมีอิสระในการเล่นค่อนข้างที่จะเท่าเทียมกันและจะพยายามเล่นให้สอดคล้องเติมเต็มที่ว่างซึ่งกันและกัน เป็นลักษณะการพูดคุย(conversational) และถามตอบ(question & answer) ระหว่างกันเป็นหลัก ทั้งนี้จะเรียกว่าเป็นสภากาแฟในทางดนตรีก็คงจะไม่ผิดนัก การที่มีอัลบั้มอย่างนี้ให้เราศึกษาจึงเป็นโอกาสดีที่ควรแนะนำกันครับ อัลบั้มนี้เปรียบไปก็คือการที่เรานั่งดูผู้เฒ่าผู้แก่ในวงการบลูส์เขาคุยกันผ่านทางเสียงดนตรี ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะเล่นเครื่องดนตรีชิ้นไหนก็สามารถศึกษาเก็บเกี่ยวอะไรดีๆได้มากมาย หรือแฟนบลูส์จะติดตามฟังเพราะใจรักก็ยืนยันว่าพลาดไม่ได้ครับ.

 

B.B. King – Live at the Regal

B.B. King – Live at the Regal

B.B. King – Live at the Regal

ถ้าจะพูดถึงนักดนตรีบลูส์ที่ประสบความสำเร็จและมีอิทธิพลกับนักดนตรีรุ่นหลังมากที่สุดก็เห็นจะไม่มีใครเกิน B.B. King ถ้าไม่นับว่าบีบีถือเป็นคนที่สุขภาพดีมีอายุยืนยาวส่งผลให้ได้ทำงานเพลงออกมาอย่างต่อเนื่องผ่านหลายยุคหลายสมัยแล้ว วิธีการเล่นและร้องของเขาถ้าเทียบกับเหล่าศิลปินระดับตำนานในยุคเดียวกันนั้น จะเห็นได้ว่าดนตรีในลักษณะของบีบีคิงนั้นจะมีความร่วมสมัยอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใดก็ตาม จนอาจจะพูดได้ว่านี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดนตรีของเขานั้นมีอิทธิพลมากต่อวงการบลูส์ เพราะลักษณะที่ร่วมสมัยนั้นเป็นปัจจัยเชื่อมสำคัญที่ทำให้นักดนตรีจากต่างถิ่นต่างวัฒนธรรมรู้สึกได้ว่าบลูส์นั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของคนดำจากตอนใต้เพียงอย่างเดียว ใครๆก็สามารถเข้าถึงบลูส์และตีความบลูส์ในแบบของตนได้ นอกจากนี้ดนตรีที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าบลูส์แบบ traditional ก็ยังเป็นการเปิดประตูบานใหม่ สร้างกลุ่มผู้ฟังใหม่ๆ และเบิกทางไว้ให้กับนักดนตรีรุ่นหลังๆได้มีโอกาสสร้างงานและถูกค้นพบได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

ผมเชื่อแน่ๆว่าหลายท่านๆที่เป็นแฟนดนตรีบลูส์จะมีอัลบั้มของบีบีคิงอยู่ในครอบครองจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่ถ้าทันซื้อกันก็อาจจะเป็นอัลบั้มที่ออกมาตั้งแต่ช่วงยุค 90’s เรื่อยมาจนอัลบั้มสุดท้ายก่อนที่เขาจะเสียชีวิต แต่อัลบั้มที่ผมอยากจะแนะนำวันนี้คืออัลบั้มที่ออกมาตั้งแต่ปี 1965 ครับ ชื่อว่า Live At The Regal ถ้าถามว่าทำไมต้องอัลบั้มนี้ ทั้งๆที่อัลบั้มอื่นที่ดีๆก็เยอะมาก ก็ต้องบอกเลยครับว่าเวลาผมอ่านบมสัมภาษณ์นักดนตรีบลูส์ระดับแถวหน้าของวงการทีไร ไม่ว่าจะเป็น Eric Clapton, John Mayall, Mark Knopfler, John Mayer , Jimmie Vaughan และศิลปินอื่นๆอีกหลายคนนั้น หากมีการพูดถึงบีบีคิงก็ต้องมีชื่ออัลบั้มนี้เอ่ยขึ้นมาแทบจะร้อยทั้งร้อยในฐานะอัลบั้มที่เป็นแรงบันดาลใจ

ตรงนี้หากท่านลองไปฟังจะเห็นได้ชัดเจนครับว่าต่างกับภาพของบีบีที่เราคุ้นเคยในยุคหลังๆพอสมควรเลยทีเดียว บีบีในปี 65 นั้นเพิ่งจะอายุสี่สิบ ยังยืนไหวไม่ได้นั่งเก้าอี้อย่างที่เราคุ้นเคยกันในช่วงหลัง เป็นนักร้อง นักเล่าเรื่องในภาษาบลูส์ที่ดีที่สุดคนหนึ่งในวงการ และเล่นกีตาร์ดุดันกว่าที่เราๆอาจจะคุ้นเคยกันพอสมควรเลยครับ ทั้ง tone และ phrasing นับว่าเป็นอัลบั้มที่ดิบเอาเรื่อง แต่ก็เต็มไปด้วยพลังงาน โดยเฉพาะการโต้ตอบระหว่างบีบีเอง และคนดูใน Regal Theater ก็ยิ่งทำให้ได้บรรยากาศมากขึ้นไปอีก ตรงนี้ถ้าผู้อ่านท่านไหนมีเครื่องเสียงดีๆ เบียร์เย็นๆถือไว้ในมือ หลับตาลงพาลอาจจะจินตนาการไปได้จริงๆครับว่าเรานั้นนั่งอยู่ในบลูส์คลับหรือไม่ก็ไปอยู่ในคอนเสิร์ตตรงนั้นกับเขาด้วยจริงๆ

อัลบั้มนี้ครบเครื่องจริงๆอย่างที่เขาว่ากันครับไม่ว่าท่านจะเป็นแฟนเพลงบลูส์ฟังเพื่อความเพลิดเพลิน หรือนักดนตรีที่ต้องการศึกษาบลูส์จากหนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดของตำนานบลูส์ที่ชื่อ B.B. King คนนี้ แนะนำให้หามาไว้ในครอบครองครับ