ฮิปสเตอร์บ้านไร่(2) : RL BURNSIDE

ฮิปสเตอร์บ้านไร่(2) : RL BURNSIDE

ฮิปสเตอร์บ้านไร่(2) : RL BURNSIDE

หายหน้าไปหลายวันกับการพยายามทำซิงเกิ้ลแรกของวงตัวเอง ตอนนี้เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ขอกลับมาเขียนหัวข้อที่ค้างคาเอาไว้ครับ ฮิปสเตอร์บ้านไร่วันนี้ขอพูดถึงตัวแสบอีกคนหนึ่ง(ทางด้านงานดนตรี)ของวงการที่เริ่มต้นชีวิตนักดนตรีจากท้องทุ่งทางตอนเหนือของมิสซิสซิปปี้แต่อัลบั้มก่อนเสียชีวิตนั้นกลับมีกลิ่นอายอิเลคทรอนิคส์และฮิปฮอปอย่างเข้มข้น! คนนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้ครับนอกจาก RL Burnside ครับ  

ผมเองมีโอกาสได้รู้เรื่องราวเกี่ยวศิลปินท่านนี้ผ่านทางสารคดีที่นักดนตรีชาติพันธุ์ชาวอเมริกันชื่อ Alan Lomax ได้จัดทำไว้และผู้นำมาแบ่งตอนลงไว้ในยูทูบภายใต้ชื่อ Alan Lomax Archive ซึ่งมาเนื้อหาเยอะมากๆและมีศิลปินสำคัญๆหลายคนอยู่ในนั้น น่าสนใจและน่าติดตามศึกษามากๆครับหากท่านผู้อ่านอยากทราบถึงที่มาที่ไปของดนตรีที่มาจากชาวแอฟริกัน-อเมริกัน แนวทางการเล่นของ RL ในยุคแรกๆนั้นเป็นลักษณะ percussive กล่าวคือจะเน้นด้านจังหวะเป็นหลัก(จริงๆแล้วแทบจะพูดได้ว่ามากกว่าหรืออย่างน้อยๆก็พอๆกันกับเมโลดี้) ซึ่งเมื่อฟังแล้วสำหรับผมบางครั้งก็พาลจะนึกถึงดนตรีแอฟริกันแท้ๆเอาได้ง่ายๆ ใครๆเขาก็ว่าบลูส์มาจากแอฟริกันมิวสิคแต่บลูส์ที่เราๆคุ้นกันนั้นก็พัฒนาไปไกล แต่สำหรับงานของ RL ในยุคแรกๆนั้นผมว่าเป็นอะไรที่ยืนยันคำพูดนี้ได้เป็นอย่างดีครับ

ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านจะรู้สึกแบบเดียวกันหรือเปล่านะครับ แต่ตอนดูคลิปนี้เป็นครั้งแรกนี่ผมรู้สึกประทับใจมาก ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีใครเล่นเพลงคอร์ดเดียวให้เท่ขนาดนี้ได้ ความเก๋าทะลุจอมากๆครับ อีกอย่างก็คือว่าดนตรีแบบนี้ ฉากหลังแบบนี้คิดถึงอะไรที่เราคุ้นเคยกันมั้ยครับ?  

ครั้งแรกที่ผมได้ดูคลิปนี้มันมีอะไรหลายๆอย่างที่พาให้ผมหวนกลับมานึกถึงดนตรีพื้นบ้านอีสานครับ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางดนตรีที่เน้นริทึ่มมากกว่าเมโลดี้ การยืนคอร์ดเดียวตลอดทั้งเพลงหรือที่เรียกว่า Drone หรือสเกลเพนทาทอนิคที่ใช้ หรือไม่ว่าจะเป็นภูมิทัศน์ที่ดูๆไปก็มีความคล้ายคลึงกันหลายๆอย่าง อย่างดินลูกรัง มีรั้วลวดหนามที่แบ่งอาณาเขตอย่างคร่าวๆ และทุ่งหญ้าแห้งๆ คนพื้นถิ่นทั่วโลกบางทีมีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมได้อย่างน่าตกใจเหมือนกันครับ  

RL นั้นเริ่มต้นจากการเป็นนักดนตรีท้องถิ่นที่สุดท้ายก็ไปแสวงโชคในเมืองใหญ่อย่างชิคาโก้ตามอย่างนักดนตรีคนอื่นร่วมยุคร่วมสมัย แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรมากมายนักอาจจะเป็นด้วยว่าแนวดนตรีที่เขาเล่นนั้นไม่ได้เหมาะกับเมืองใหญ่อย่างชิคาโก้ที่ขณะนั้นกำลังจะขยับไปสู่บลูส์ที่ดังขึ้น เข้มข้นขึ้น น่าตื่นเต้นขึ้นอย่างดนตรีของค่าย Chess Records ในเวลาต่อมา อยู่ที่ชิคาโก้เพียงสองสามปีไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเขาก็เป็นอันต้องย้ายกลับไปอยู่ทางใต้เหมือนเดิม ช่วงกลางของชีวิตนั้น RL ต้องทำอะไรหลายๆอย่างไปพร้อมๆกันเพื่อประทังชีวิต ถึงจะไม่อดอยากแต่ก็ไม่ได้ร่ำรวยครับ เล่นดนตรีในลักษณะพาร์ทไทม์เสียเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งก็เปิดบาร์เล็กๆบ้าง โดยระหว่างนั้นก็ทำการเกษตรคู่กันไปโดยตลอด(Alan Lomax ได้ตามไปอัดสารคดีถึงบ้านของเขาในช่วงนี้ครับ) ความสำเร็จทางด้านยอดขายเพลงของเขานั้นตามมาในช่วงสิบกว่าปีสุดท้ายของชีวิตครับ จากการเข้าร่วมงานกับค่าย Fat Possum Records ซึ่งอัลบั้มในช่วงนี้ได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่บวกเป็นอย่างมากทั้งจากแฟนเพลงและนักวิจารณ์ ยิ่งไปกว่านั้นการร่วมงานกับ Jon Spencer ตามมาด้วย Tom Rothrock ในภายหลังได้ผลักดนตรีบลูส์ดิบๆในแบบดั้งเดิมของ RL ออกไปไกลจนเหยียบย่างขอบเขตของเทคโนและฮิปฮอปแต่กลับผสมผสานกันได้อย่างลงตัว เราลองย้อนกลับไปดูคลิปด้านบนอีกครั้ง แล้วลองมาฟังอัลบั้มสุดท้ายในชีวิตของเขาเปรียบเทียบกันเป็นการปิดท้าย แบบนี้ไม่ให้เรียกว่าฮิปก็ไม่รู้ว่าไงแล้วครับ!

ฮิปสเตอร์บ้านไร่(1) : Slim Harpo

ฮิปสเตอร์บ้านไร่(1) : Slim Harpo

ฮิปสเตอร์บ้านไร่(1) : Slim Harpo

วันนี้ตั้งใจจะเขียนเรื่องศิลปินบลูส์นอกกระแสครับ ซึ่งเป็นผลมาจากบทสนทนากับพี่ๆช่วงสองสามวันที่ผ่านมาถึงความคล้ายคลึงของเพลงบลูส์บางลักษณะกับเพลงลูกทุ่งของเราในช่วงยุค 60’s – 70’s พูดแล้วผมก็จะนึกถึงพวกบลูส์กระแสรองโดยอัตโนมัติ อันนี้จริงจะว่าไปศิลปินเหล่านี้ในสมัยนั้นเขาก็ประสบความสำเร็จกันพอสมควรนะครับ บางคนในช่วงเวลาเดียวกันยอดขายดีกว่าก็อดฟาเธอร์ของวงการบลูส์อย่างมัดดี้ วอเตอร์สด้วยซ้ำ มาถึงตรงนี้อาจจะเป็นโอกาสดีที่จะได้แจกแจงนิดนึงครับว่าการยึดเอาบลูส์ในแบบของมัดดี้หรือที่เรียกกันว่าชิคาโก้บลูส์เป็นสแตนดาร์ดของบลูส์เลยนั้น จริงๆแล้วทำไม่ได้เพราะชื่อก็บอกอยู่ครับว่ามันเป็นบลูส์ของเมืองชิคาโก้ ในอเมริกานั้นมี 50 รัฐและแต่ละรัฐนั้นก็มีหลายเมืองท่านผู้อ่านลองคิดดูสิครับว่าวัฒนธรรมพื้นถิ่นจะต่างกันได้ขนาดไหน บลูส์ในฟอร์แมตที่เราคุ้นกันว่าเป็น 12 bar blues, มีนักร้องนำกึ่งร้องกึ่งตะโกน และเสียงกีตาร์แตกๆนั้น เป็นรูปแบบที่เริ่มต้นที่ชิคาโก้และได้รับการพัฒนาต่อยอดมากที่สุดด้วยเหตุผลหลายๆอย่าง แต่ในเวลาเดียวกันห่างออกไปเป็นพันๆไมล์ไม่ว่าจะเป็นทางใต้ ทางตะวันออก หรือตะวันตกบลูส์ที่กำลังเกิดขึ้นอาจจะแตกต่างออกไปอย่างมากก็เป็นได้  

วกกลับมาเข้าหัวข้อของวันนี้พอพูดถึงความคล้ายคลึงกับเพลงลูกทุ่งของเราเมื่อสี่สิบ-ห้าสิบปีก่อน ชื่อแรกๆที่โผล่ขึ้นมาในหัวคือ Slim Harpo ครับ ทำไมต้อง Slim Harpo? คนนี้นี่ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่าเขาไม่เหมือนใครจริงๆครับ ถ้าเป็นศัพท์วัยรุ่นสมัยนี้ก็ต้องเรียก ฮิปสเตอร์ตัวพ่อ อะไรประมาณนั้นเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การแต่งตัวหรือแอตติจูดในการทำเพลง เขาเป็นคนแรกๆที่ช่วยทำให้เกิดซาวนด์ในแบบ Swamp Blues ซึ่งเป็นบลูส์ที่เกิดจาก Louisiana (Swamp หมายถึงดินแดนชุ่มน้ำซึ่งเป็นลักษณะเด่นทางธรณีวิทยาของ Louisiana) บลูส์ในลักษณะนี้ต่างจากบลูส์กระแสหลักพอสมควรเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจังหวะที่มีความหลากหลายกว่า และมักจะเล่นกันแบบหลวมๆสบายๆ(laid back) จังหวะ Shuffle ในแบบชิคาโก้นั้นแทบไม่มีเลยครับ ฟอร์มของเพลงนั้นก็มักจะมีอะไรที่นอกเหนือจาก 12 bar blues และบ่อยครั้งที่ก็เป็นไปได้จะยืนคอร์ดเดียวไปจนจบเพลง(ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่คล้ายคลึงกับเพลงลูกทุ่งและหมอลำของไทยครับ) เนื้อหาของเพลงถ้าเป็นเรื่องของความโกรธแค้นแทบไม่มีให้เห็น อาจจะมีเศร้าบ้าง แต่ Slim Harpo นั้นแม้กระทั่งการขอให้แฟนเกาหลังให้เขาก็เอาไปแต่งเป็นเพลงมาแล้ว(Baby Scratch My Back) แถมขึ้นชาร์ตเสียด้วย! นอกจากนี้แล้ววิธีการร้องเพลงของเขาก็ต่างออกไปจากบลูส์กระแสหลักอย่างสิ้นเชิง อันที่จริงเรียกว่ากึ่งร้องกึ่งพูดก็น่าจะเห็นภาพชัดเจนกว่า ทั้งหมดนี้รวมกันพูดเป็นศัพท์วัยรุ่นอีกสักทีก็คงต้องบอกว่า ลุงสลิมแกชิลจริงๆครับ!

ลักษณะเฉพาะที่แตกต่างออกไปอย่างมากจากบลูส์กระแสหลักแบบนี้บางทีมันก็มีลักษณะบางอย่างที่คล้ายคลึงกับเพลงลูกทุ่งบ้านเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นซาวนด์ดนตรี เนื้อหาหยิกแกมหยอก บรรยากาศโดยรวมที่ค่อนข้าง laid back

เรามาลองฟังเพลงนี้ดูครับ Tip On In ฟังแล้วลองจินตนาการเปลี่ยนเสียงร้องเป็นภาษาอีสานเล่าเรื่องราวอะไรก็ได้สนุกๆ ผมรับประกันว่าเห็นภาพครับ!  

วันนี้ขออนุญาติแถมอีกคลิปเป็นของไวพจน์ เพชรสุพรรณ ลองฟังดูครับ คิดแล้วบางทีก็ยังเสียดายว่าดนตรีบ้านเรายุคนั้นก็ใช่ย่อย แต่ยุคหนึ่งถูกมองเป็นของเชย ตอนนี้ถ้าใครเริ่มมองเห็นจุดเชื่อมระหว่างดนตรีบลูส์ฮิปๆแบบนี้กับวัฒนธรรมบ้านเราเกิดเป็นไอเดียจะทำเพลงแบบนี้ออกมาคงเท่ไม่เบาครับ.

Keeping the Blues alive

Keeping the Blues alive

Keeping the Blues alive

สวัสดีครับ พบกันอีกครั้งกับข้อเขียนจากคอลัมน์ “บลูส์รำพึง” ที่ตั้งใจไว้ว่าจะเป็นคอลัมน์ที่อยากจะเขียนเรื่องอะไรก็เขียน ทำนองว่าคิดไปเขียนไปประมาณนั้น อะไรมากระทบความคิดถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับบลูส์และคิดว่าน่าสนใจพอผมก็จะเอามาเขียนไว้ในนี้ครับ  

วันนี้จั่วหัวไว้ว่า “Keeping The Blues Alive” แล้วก็ตั้งใจเอาคลิปวิดีโอแปะไว้ก่อนเลย แทนที่จะปิดท้ายอย่างผ่านๆมาเพราะอยากที่จะเอาคลิปอันนี้เป็นจุดตั้งต้นครับ ศิลปินในคลิปนี้คือ Igor Prado และวงของเขา สถานที่คือร้านชื่อ Blues City Deli ใน St. Louis ครับ คลิปนี้พิเศษยังไง? ทำไมถึงอยากเอาคลิปเป็นจุดเริ่มต้นบทความ? ก็ต้องบอกอย่างนี้ครับ ว่าถ้าไม่นับความเก่งกาจของตัว Igor Prado และวงของเขาซึ่งเห็นได้ชัดแล้วนั้น สิ่งที่ผมสังเกตุเห็นและค่อนข้างประทับใจในคลิปนี้ก็คือ นี่คือวงบลูส์จากบราซิลที่พูดภาษาอังกฤษยังติดสำเนียงละตินแต่เป็นที่รู้กันว่าเป็นวงที่เล่นบลูส์ในแบบเทรดิชั่นได้อย่างไม่มีที่ติ กำลังเล่นเพลงฮิตจากปี ’52 ของ Rosco Gordon ในร้านอาหารในเมือง St. Louis ให้กับลูกค้าซึ่งเป็นอเมริกัน (ใช่ครับ! Blues City Deli คือร้านอาหารที่ดังเสียด้วย แต่บังเอิญว่าเจ้าของดันเป็นแฟนบลูส์ตัวยงเลยมักจะจัดงานเชิญนักดนตรีที่เขาชื่นชอบมาเล่นอยู่เรื่อยๆ) และที่สำคัญมันเกิดขึ้นในเวลากลางวัน จากคลิปที่ผมแปะไว้ด้านบนซึ่งดูเผินๆเหมือนไม่มีอะไร แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าแทบทุกบริบทนั้นแตกต่างไปจาก set up เดิมๆสำหรับการออกไปฟังบลูส์ในแบบที่เราคุ้นชินกันพอสมควร แต่หากทุกอย่างที่พอเหมาะพอเจาะมารวมกัน(นักดนตรีที่ดี, ผู้ฟังที่เข้าใจ, เจ้าของสถานประกอบการที่พร้อมสนับสนุน) ช่วงเวลาดีๆที่มีดนตรีบลูส์เป็นแบ็คกราวนด์ก็เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา  

สำหรับในบ้านเรานั้นไม่รู้ว่าเริ่มที่ไหน เมื่อไหร่ แต่เราๆท่านๆก็ชินกับภาพของบลูส์คลับที่เต็มไปด้วยขี้เมาและควันบุหรี่ set list ที่แต่ละวงมีนั้นก็มักจะมีเพลงซ้ำกันอยู่ไม่มากก็น้อยจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ สร้างสถานการณ์ที่แทบไม่มีตัวเลือกให้กับทั้งนักดนตรีและผู้ฟัง มันเป็นงูกินหางครับไม่มีที่มาที่ไปไม่มีใครผิด นักดนตรีไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆเพราะกลัวลูกค้าไม่สนใจ ลูกค้าก็เลยรู้จักเพลงน้อยลงๆเพราะนักดนตรีเล่นแต่เพลงเดิมๆ เป็นวงจรที่ไม่สร้างสรรค์เลยครับสำหรับนักดนตรีที่อยากเล่นดนตรีจริงจัง โดยเฉพาะแนวดนตรีที่เป็นกระแสรองอยู่แล้วอย่างดนตรีบลูส์ ทั้งๆที่ความหลากหลายในดนตรีบลูส์นั้นจริงๆแล้วมีอยู่มากพอให้เลือกฟังเลือกศึกษา และมันก็จะเป็นเรื่องดีมากๆถ้าขอบเขตของการเสพดนตรีบลูส์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเวลากลางคืนและ set list ซ้ำๆ อคูสติคบลูส์ในร้านกาแฟตอนกลางวันก็เข้าท่านะผมว่า หรือบลูส์แจมตอนบ่ายๆวันเสาร์หรืออาทิตย์นี่ถ้าถามผมตอนนี้คิดว่าน่าสนใจกว่าไปเดินจตุจักร ทุกวันนี้บางทีทางเข้ามันก็มีแค่ทางเดียวแคบๆอย่างมือกีตาร์ถ้าเล่นไม่ได้อย่าง SRV, Hendrix, Clapton แทบไม่กล้าขึ้นแจม บางทีก็ชวนสงสัยว่าแล้วถ้ามันมีใครที่ชอบต่างไปจากนี้ล่ะ? ชีวิตนี้บางทีวันก็สั้นเกินกว่าจะไปทำตามมาตรฐานที่ใครก็ไม่รู้ตั้งไว้นะครับ ลองคิดง่ายๆถ้ามีวงหลายๆวงที่ศึกษาในแต่ละแนวทางให้เกิดเป็นสุ้มเสียงเฉพาะของวงไปเลยก็คงน่าสนใจดีวงนี้เล่น Swamp Blues, วงนี้เล่น Swing Blues, วงนี้เล่นบลูส์ร็อค, วงนี้เล่นคลาสสิคบลูส์ ถ้าเมื่อไหร่มีอย่างนี้ได้วงการบลูส์คงคึกคักน่าดูครับ  

เขียนมาจนใกล้จบก็ต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่าไม่ได้เขียนตำหนิความเป็นไปของวงการนะครับ แต่เขียนด้วยความหวังว่าหากมีวงดนตรีใหม่ๆ หรือสถานประกอบการไหนที่อยากจะลองมองนอกกรอบทำอะไรใหม่ๆแทนที่จะมองมุมเดียวว่าความแตกต่างเป็นเรื่องเสี่ยง แต่บางทีการหลีกหนีจากความจำเจมาเริ่มทำอะไรใหม่เป็นคนแรกๆอาจจะให้ผลลัพธ์ที่คุณคาดไม่ถึงก็ได้ อย่างเขาว่าเป็นหัวหมาดีกว่าเป็นหางเสือครับ.

Blow Wind Blow

Blow Wind Blow

Blow Wind Blow

วันนี้ไม่ทราบว่าลมฟ้าอากาศที่อื่นๆเป็นอย่างไรกันบ้างนะครับ แต่ที่นนท์ฯที่ผมอยู่นี่ออกจะผิดปรกติอยู่สักหน่อย หน้าฝนแท้ๆฟ้าก็มืดแต่ฝนดันไม่ยอมตก แต่ลมนี่พัดแทบไม่หยุดมาสามสี่วันแล้วครับ เห็นอย่างนี้เลยเอามาเป็นหัวเรื่องของคอลัมน์ “บลูส์รำพึง” ที่จะเขียนวันนี้เสียเลย   ลมพัดไม่หยุดแบบนี้สำหรับผมเพลงบลูส์เพลงนี้แว่บขึ้นมาในหัวเป็นอันดับแรกเลยครับ “Blow Wind Blow” เพลงของมัดดี้ วอเตอร์สที่อัดเสียงครั้งแรกไว้ในปี 1953 ครับ เพลงนี้นักดนตรีสายชิคาโก้บลูส์นำไปคัฟเวอร์กันบ่อยครับ เวอร์ชั่นอื่นๆที่น่าฟังก็จะเป็นของลูกศิษย์ลูกหา(หรือว่าลูกวงเก่า)ของมัดดี้ที่นำไปคัฟเวอร์หลังจากแยกตัวออกไปทำโปรเจคท์ของตัวเองนั่นเองครับ ไม่ว่าจะเป็น James Cotton, Jimmy Rogers, Mojo Buford, Sam Lay หรือ Mud Morganfield ลูกชายของมัดดี้เอง ส่วนคนดังที่สุดที่เคยนำเพลงนี้ไปคัฟเวอร์ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนอีริค แคลปตันนั่นเองครับ  

เวอร์ชั่นที่ผมแนบมาในคลิปนี่เป็นช่วงของการกลับมามีชื่อเสียงเป็นระลอกสองของมัดดี้ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระแส British Invasion ซึ่งตรงนี้ก็ตลกดีนะครับเพราะว่าคนที่เป็นเป็นแรงบันดาลใจให้วงอังกฤษเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Rolling Stones, Cream, Jimi Hendrix, John Mayall ก็คือมัดดี้และกลุ่มนักดนตรีจาก Chess Records นั่นเอง  

พูดถึงลักษณะการทำวงของมัดดี้นี่จะว่าไปก็เด่นอยู่อย่างหนึ่งคือลักษณะการเป็นจ่าฝูงเป็นผู้นำของเขานี่ชัดเจนมากๆครับ บารมีของเขานั้นรู้สึกได้จริงๆ และการเลือกนักดนตรีมาร่วมวงไม่ว่าจะตำแหน่งไหน และในยุคสมัยไหนนั้นจัดได้ว่าสายตาแหลมคมเสมอ ตั้งแต่วงแรกของมัดดี้ที่อัดเพลงให้กับ Chess Records จนมาถึงวงสุดท้ายนั้นนักดนตรีทุกตำแหน่งเรียกได้ว่าตำนานของวงการจริงๆครับ ลองไล่กันเล่นๆนะครับเอาแค่มือฮาร์โมนิก้าก็จะมี Little Walter, Junior Wells, Big Walter, George Smith, James Cotton, Mojo Buford, Paul Oscher, Carey Bell, Jerry Portnoy ทุกคนจบจากสถาบันมัดดี้ไปนี่เรียกได้ว่าระดับหัวหน้าวงกันทั้งนั้นครับ หากท่านผู้อ่านสนใจก็ลองติดตามหางานฟังเรียงชื่อไปเลยครับ แล้วลองเช็คเครดิตดูว่าใครเป็นใคร ใครมาช่วยงานของใคร เราจะได้เห็นภาพ Family Tree ของชิคาโก้บลูส์ที่มีภาพของมัดดี้เป็นปู่ทวดชัดเจนเลยครับ

ลองมาดูในคลิปนี้ซึ่งเป็นคลิปที่มาจากการแสดงสดในปี 1976 ที่ Dortmund, Germany เรื่องที่ผมอยากพูดถึงก็คือการรวมวงในแบบชิคาโก้แท้ๆที่มัดดี้และเพื่อนๆนักดนตรีเป็นคนวางรากฐานเอาไว้ตั้งแต่สมัยที่ยังอยู่ Chess Records ครับ จะเห็นได้ว่าเวลาผ่านไปเกือบยี่สิบปีมัดดี้ก็ยังทำวงเหมือนเดิมครับ พลังและเสน่ห์ของชิคาโก้บลูส์ก็ไม่ได้ลดลงไปเลย เสน่ห์ที่ว่านั้นมาจากการที่ทำแต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองโดยไม่ล้ำขอบเขตของคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันตัวโน้ตเหล่านั้นก็สอดประสานกันอย่างถูกที่ถูกทาง มัดดี้เองมักจะเล่นกีตาร์ไฟฟ้าในลักษณะเดียวกันกับที่เขาเคยเล่นอคูสติคซึ่งหลักๆก็คือการ accompany การร้องของตัวเองนั่นเอง ความแข็งแรงของริทึ่มนั้นสร้างมาจากด้านหลังของวงซึ่งในที่นี้ก็คือ Willie “Big eyes” Smith มือกลองและ Calvin Jones มือเบส ซึ่งการเล่นของทั้งคู่นั้นจะเน้นการสร้างริทึ่มที่กระชับและแข็งแรงตรงไปตรงมามากกว่าที่จะสร้างอะไรที่ซับซ้อน ในขณะที่ Bob Margolin มือกีตาร์และ Pinetop Perkins มือเปียโนก็จะเป็นตัวเชื่อมเติมเต็มช่องว่างระหว่างริทึ่มและการซัพพอร์ตมัดดี้ ส่วน Jerry Portnoy นั้นก็จะเล่นในลักษณะถาม – ตอบกับ phrasing ในการร้องของมัดดี้ตลอดเวลา อยากให้ผู้อ่านลองสังเกตุดูครับ ทั้งหมดนี้เมื่อเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน มันคือความสวยงามของชิคาโก้บลูส์ครับ ความกระชับ ความสร้างสรรค์ที่อยู่ในความมีระเบียบ พลังที่อยู่ในขอบเขต และนี่คือศาสตร์บลูส์แห่งเมืองเหนือที่มัดดี้เป็นคนวางรากฐานเอาไว้ครับ

รายชื่อนักดนตรีในคลิป Muddy Waters(V,Gt), Bob Margolin(Gt), Calvin Jones(B), Pinetop Perkins(Pn), Jerry Portnoy(H), Willie “Big eyes” Smith(D)