Thrill Is Gone

by | Sep 23, 2019 | บลูส์รำพึง | 0 comments

สวัสดีแฟนเพจและท่านผู้อ่านทุกท่านครับ ผมเขียนบทความอันนี้ทิ้งไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมาแต่กว่าจะเคลียร์ธุระต่างๆนานามาเขียนต่อให้จบได้ก็ปาเข้าไปร่วมสัปดาห์ หากท่านผู้อ่านได้มีโอกาสใช้เว็บไซต์กูเกิ้ลในวันที่ 16 ที่ผ่านมาก็คงจะได้เห็นการ tribute เล็กๆน้อยๆที่กูเกิ้ลมักจะทำให้กับบุคคลและเหตุการณ์ระดับโลกที่มีชื่อเรียกเล่นๆว่าดูเดิ้ลกันนะครับ ดูเดิ้ลของวันที่ 16 ที่ผ่านมาเกี่ยวข้องกับพวกเราชาวบลูส์ก็ตรงที่ว่ามันเป็นวันครบรอบวันเกิดของราชาแห่งเพลงบลูส์ร่วมสมัย B.B. King นั่นเองครับ ซึ่งหากเขายังมีชีวิตอยู่วันนี้ก็จะเป็นวันครบรอบอายุ 94 ปีพอดีครับ

พอพูดถึงบีบีคิงท่านผู้อ่านนึกถึงอะไรกันบ้าง..? บุคลิกคุณตาใจดี, กีตาร์คู่ใจสีดำที่ชื่อว่า Lucille, หรือเพลงบางเพลงที่ท่านผู้อ่านชอบเป็นพิเศษครับ? สำหรับตัวผมเองนั้นบีบีคิงเองถึงแม้จะมีลักษณะเด่นให้เป็นที่จดจำหลายอย่าง แต่อย่างแรกเลยที่ผมจะนึกขึ้นมาก่อนเสมอเมื่อนึกถึงบีบีคิงก็คือเพลงฮิตที่สุดของเขา Thrill Is Gone นั่นเองครับ ซึ่งก็เป็นที่มาของเรื่องที่ผมจะเขียนเนื่องในโอกาสครบรอบวันเกิดของราชาเพลงบลูส์คนนี้ครับ

ในบรรดาศิลปินบลูส์ที่เป็นตำนานทั้งหมดในความเห็นของผมเองนั้น บีบีคิงเป็นสะพานเชื่อมที่โดดเด่นที่สุดที่ทำให้ดนตรีบลูส์เข้าถึงคนหมู่มากได้จริงๆ และสามารถทำได้โดยการใช้เพลงบลูส์จริงๆแต่ผสมผสานการตีความและการเรียบเรียงที่ร่วมสมัยเรื่อยมาจนทำให้แม้คนที่ไม่รู้จักหรือสนใจดนตรีบลูส์อย่างน้อยๆก็ต้องเคยได้ยินเพลงหรือชื่อเสียงของบีบีคิง ตรงนี้น่าสนใจมากๆครับ เพราะถ้าเราจะพิจารณาศิลปินกลุ่มอื่นๆที่มีส่วนช่วยให้ดนตรีบลูส์อยู่รอดผ่านกาลเวลามาได้นั้น เราจะพบว่า Impact ที่มีต่อผู้ฟังในวงกว้างนั้นอาจจะไม่สามารถเทียบเท่ากับสิ่งที่บีบีคิงทำได้ด้วย Thrill Is Gone เพียงเพลงเดียวด้วยซ้ำไป เขียนมาอย่างนี้บางท่านอาจจะแย้งในใจว่าผมมองข้ามศิลปินดังๆไปเป็นจำนวนมากอย่างเหมารวมได้อย่างไร ตรงนี้ขออนุญาตอธิบายอย่างนี้ครับ

ถ้าเรามองในภาพรวมว่าโดยหลักๆเรามีสองกลุ่มนักดนตรีบลูส์ที่มีอิทธิพต่อความนิยมของดนตรีชนิดนี้คือกลุ่มนักดนตรีผิวดำรุ่นบุกเบิก และกลุ่มนักดนตรีผิวขาวที่นำเอาดนตรีบลูส์ไปผสมผสานกับแนวดนตรีอื่นๆนับตั้งแต่ช่วงปี 60s เรื่อยมาซึ่งถือเป็นการต่อชีวิตดนตรีบลูส์โดยทางอ้อมนั้น ไม่ว่าจะพิจารณานักดนตรีคนไหนหรือกลุ่มไหนเราก็จะเห็นว่านักดนตรีส่วนใหญ่จะยึดติดอยู่กับสไตล์ที่ตนถูกสอนมา หรือสไตล์ที่ตนหรือวงได้พัฒนาขึ้นมา มีนักดนตรีส่วนน้อยมากที่จะสามารถพัฒนาคลี่คลายตามยุคสมัยเรื่อยมา และห่างออกไปจากจุดเริ่มต้นของตนเองได้มากเท่ากับบีบีคิง มิหนำซ้ำยังสามารถเข้าถึงคนหมู่มากได้มากขึ้นเรื่อยๆตามยุคสมัย

สำหรับผมแล้วเพลงอย่าง Thrill Is Gone เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดครับ..

บีบีคิงนั้นนับได้ว่าร่วมรุ่นกันกับตำนานบลูส์ผิวดำยุคอิเล็คทริคบลูส์ทุกคนที่เราๆพอจะนึกกันออกครับ แต่ในขณะที่ศิลปินบลูส์ส่วนใหญ่เลือกที่จะยึดติดกับฟอร์แม็ตของเพลงบลูส์แบบ traditional นั้น บีบีคิงน่าจะเป็นคนแรกๆที่เลือกเอาเฉพาะวิธีการร้อง และการโซโล่แบบถามตอบ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดประการหนึ่งของบลูส์ นำเอกลักษณ์ตรงนี้ถอดออกไปรวมกับทางคอร์ดที่อาจจะต่างจากขนบไปบ้าง และเปิดทางให้กรูฟใหม่ๆอื่นเข้ามาเป็นส่วนประกอบของตัวเพลงบ้าง ผลลัพธ์ก็คือเพลงบลูส์สแตนดาร์ดแบบใหม่ในสไตล์ของบีบีคิง ที่มีความพิเศษในการที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลาตามยุคสมัยอย่าง Thrill Is Gone เพลงนี้เป็นต้นครับ และอีกอย่างหนึ่งที่หลายๆท่านอาจจะยังไม่รู้ก็คือ เพลงนี้ไม่ได้เป็นเพลงออริจินอลของบีบีครับ!

เพลงนี้ต้นฉบับนั้นเป็น slow blues จากปี ’51 ของ Roy Hawkins ครับ ซึ่งหากฟังดูแล้วก็เป็นเพลงที่ดีแต่ก็ไม่โดดเด่นอะไรมาก แต่วิธีการเล่าเรื่อง(เนื้อเพลง)ของเพลงนี้จะว่าไปแล้วก็ถือว่าค่อนข้างแตกต่างกว่าเพลงบลูส์ในสมัยนั้นที่ยังตรงไปตรงมาและมักจะนิยมพูดถึงเหล้า ยา และอาชญากรรมอยู่พอสมควร วิธีการเล่นเรื่องที่อ่อนละมุนกว่าของเพลงนี้นั้นดูๆไปก็มีกลิ่นของโซลผสมเข้ามาอยู่บ้าง บีบีเองอาจจะเห็นความแตกต่างในจุดนี้ว่าเขาจะสามารถนำพาวัตถุดิบตรงนี้นำเสนอให้กลุ่มคนฟังที่กว้างขึ้นโดยยังสามารถคงเอกลักษณ์ของบลูส์ไว้ครบถ้วนได้อย่างไร และเมื่อเขานำเนื้อร้องที่เป็นบลูส์เพิ่มวิธีการร้องที่ได้อิทธิพลจากดนตรีโซลมาผสม รวมกับภาคริทึ่มที่กระเดียดไปทางโซล จึงเกิดขึ้นเป็น Thrill Is Gone ในเวอร์ชั่นของเขาจากอัลบั้ม Completely Well ในปี 1969 ซึ่งส่งผลให้เขาได้รับรางวัล Grammy Awards ในปีถัดไป และอย่างที่เราก็ได้ทราบกันมาถึงทุกวันนี้ว่านี่คือหนึ่งใน Single ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของบีบีคิง นับเป็นบลูส์สแตนดาร์ดเพลงแรกๆที่ทำลายกรอบเดิมของบลูส์ได้อย่างแนบเนียน

บทเพลงนี้ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นก็ได้พิสูจน์ตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยการถูกนำไปบรรเลง ร่วมกับศิลปินต่างๆมากมายหลายแนวผ่านระยะเวลาหลายทศวรรษจวบจนวาระสุดท้ายของบีบีคิง… ขึ้นหิ้งเป็นบทเพลงอมตะอย่างไม่มีข้อสงสัย ถึงแม้ในบทเพลงเพลงนั้นจะกล่าวไว้ว่า Thrill Is Gone และเจ้าของบทเพลงเองก็ได้จากพวกเราไปแล้ว แต่ “Thrill” หรือความตื่นเต้นที่เกิดจากการที่บทเพลงนี้ได้บุกเบิกแนวทางใหม่ๆให้กับวงการบลูส์นั้นจะยังอยู่กับพวกเราไปอีกนานครับ

*วันนี้ขออนุญาตแถมเป็นพิเศษอีกสักหนึ่งคลิป ถึงแม้คุณภาพอาจจะไม่ดีเท่าไหร่แต่ความพิเศษของคลิปนี้นอกจากศิลปินที่มาร่วมบรรเลงแล้วก็อยากให้ท่านผู้อ่านลองสังเกตุตรงนาทีที่ 2:30 อยากจะบอกว่า… อบอุ่นหัวใจจริงๆครับ