Fenton Robinson – Mellow Guitar Genius

Fenton Robinson – Mellow Guitar Genius

Fenton Robinson – Mellow Guitar Genius

วันนี้ผมนั่งฟังรายการ Lovin’ Blues Radio (เทปที่สาม) ที่คุณป๊อปจัด ฟังไปได้ถึงเพียงเพลงที่สองที่คุณป็อปเลือกมาก็ต้องนึกแปลกใจผสมดีใจว่าโอ้โฮนี่มีคนที่รสนิยมตรงกับเราขนาดนี้ ทั้งๆที่เพลงที่ผมเลือกมาฟังหรือเล่นกับที่วงบางทีก็เลือกกึ่งทำใจว่าถึงเราจะคิดว่ามันเป็นเพลงที่ดีแต่บางทีอาจจะเข้าถึงยากเกินไปสำหรับลูกค้าหลายๆท่าน แต่ก็ยังอดไม่ได้ที่จะเอามาเล่น เพราะฉะนั้นอารมณ์แบบนี้เวลาเจอคนคอเดียวกันมันดีใจบอกไม่ถูกครับ

เพลงที่สองของเทปนี้คุณป๊อปเปิดเพลง You Don’t Know What Love Is ของ Fenton Robinson ซึ่งบังเอิญช่วงหลังผมเองก็เล่นเพลงนี้กับที่วงบ่อยมาก เลยจะถือโอกาสพูดถึงศิลปินคนนี้สักหน่อยครับ เรื่องราวชีวิตของเฟนตันในฐานะนักดนตรีบลูส์นั้นอันที่จริงสรุปให้เข้าใจง่ายๆก็คือ เป็นศิลปินฝีมือดีที่เหมือนโชคไม่ดีอยู่ผิดที่ผิดเวลา ไม่ได้กลายเป็นที่รู้จักและจดจำเหมือนเพื่อนร่วมรุ่นทั้งที่ฝีมือใกล้เคียงกัน อันที่จริงเขาเองนั้นนับว่ารุ่นไม่ห่างกันมากกันนักร้องบลูส์ระดับแถวหน้าอย่าง B.B. King และ Bobby Blue Bland เป็นหนึ่งในกลุ่มนักดนตรีบลูส์จากมิสซิสซิปปี้ที่ไปแสวงโชคในชิคาโก้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่กลุ่มแรกๆที่ขึ้นไปจากตอนใต้(อย่างเช่นกลุ่มที่ไปอยู่กับ Chess Records) แต่ก่อนจะขึ้นไปนั้นเขามีชื่อเสียงระดับท้องถิ่นอยู่แล้วจากการออกอัลบั้มในเทนเนสซี ก็ถือได้ว่าเขานั้นไม่ถึงกับลำบากขนาดยากจนข้นแค้นแต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จจนดังเปรี้ยงปร้างอย่างเพื่อนร่วมรุ่นหลายๆคน

สไตล์ของเขานั้นค่อนข้างนุ่มนวล สุภาพ และมักจะเด่นไปที่เพลงช้า (Slow Blues) ซึ่งก็มักจะอยู่ในโทนเสียงไมเนอร์ทำให้ภาพลักษณ์ของการเป็นนักร้องสไตล์เศร้าเหงาอาจจะติดตัวเขาอยู่สักหน่อย แต่ถ้ามองภาพรวมว่าในวงการบลูส์นั้นมีศิลปินที่ขับเคลื่อนด้วยฮอร์โมน testosterone เป็นส่วนใหญ่แล้วนั้น การมีศิลปินสไตล์นุ่มลึกแบบเฟนตันก็เป็นทางเลือกในการฟังที่ควรรู้จักไว้เหมือนกันครับ เพลงสร้างชื่อของเขาเป็นเพลงช้าแทบทั้งหมดครับไม่ว่าจะเป็น As The Years Go Passing By, You Don’t know What Love Is, Somebody Loan Me A Dime เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งมักจะถูกนำไปคัฟเวอร์โดยศิลปินที่ประสบความสำเร็จมากกว่าตัวเฟนตันเองแทบทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็น Albert King, Jeff Healy, Boz Scaggs & Duane Allman, Rick Derringer, Sean Costello, Gary Moore หรือแม้กระทั่ง Santana เป็นต้น

คลิปที่เลือกมาให้ฟังอันนี้คือเพลงไตเติ้ลแทร็คจากอัลบั้ม Somebody Loan Me A Dime อัลบั้มที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของเขาซึ่งออกกับ Alligator Records ในปี 1974 ครับ.

Sonny Boy Williamson II

Sonny Boy Williamson II

Sonny Boy Williamson II

เมื่อก่อนตอนสมัยที่ผมเพิ่งฟังบลูส์มายังไม่นานมาก นอกจากเหล่ากีตาร์ฮีโร่สายบลูส์ทั้งหลายที่ทุกคนต้องรู้จัก จะให้ย้อนกลับไปถึงต้นตอของบลูส์เอาเข้าจริงๆตอนนั้นก็นึกออกอยู่ไม่กี่ชื่อ Robert Johnson, Muddy Waters, Three kings, Buddy Guy พวกนี้มองย้อนกลับไปจริงๆแล้วก็ต้องโทษนิตยสารดนตรีต่างๆอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะถึงแม้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้เข้าถึงข้อมูลที่เราไม่เคยได้รู้(สมัยนั้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตยังเข้าถึงไม่ง่ายเหมือนตอนนี้) แต่ก็เป็นส่วนสำคัญเหมือนกัน ที่จำกัดเรื่องราวให้เรารับรู้วนๆเวียนๆอยู่แค่ Jimi Hendrix, SRV, เรื่องการค้าทาส, ขายวิญญานตรงทางแยก, ฯลฯ เหตุผลก็ง่ายๆตรงที่ว่าเรื่องพวกนี้มันขายง่าย วัยรุ่นอ่านแล้วมันซูซ่าอยากไปหยิบกีตาร์มาฝึกโซโล่ แต่บ่อยเข้าหรือนานๆเข้าพวกนี้จริงๆมันก็พาเราไปถึงทางตันที่น่าเบื่อได้เหมือนกัน ให้นึกสงสัยว่า เอ๊ะ บลูส์มันมีแค่นี้จริงๆหรือยังไง

ศิลปินในกลุ่ม Blues Masters รุ่นใกล้เคียงกันกับ Muddy Waters ที่มีชื่อเสียงรองๆลงไปคนแรกที่ผมได้ฟังและประทับใจมากและอยากเอามาพูดถึงคือ Sonny Boy Williamson II(Alex Rice Miller) มือฮาร์โมนิก้าฝีมือดีที่นิสัยส่วนตัวอาจจะกวนเบื้องล่างของใครต่อใครในยุคนั้นอยู่สักหน่อย เรื่องราววีรกรรมของเขานั้นเยอะครับ เพราะความที่เป็นคนตุกติก ติดเหล้า และนิสัยเรื่องผู้หญิงนั้นก็มักจะสร้างปัญหาให้ตัวเองอยู่เรื่อย ยกตัวอย่างวีรกรรมอันดับแรกก็ต้องพูดถึงที่มาของชื่อของเขาสักหน่อย ชื่อจริงของเขานั้นอยู่ในวงเล็บซึ่งก็คือ Rice Miller ส่วนชื่อ Sonny Boy Williamson นั้นที่ต้องมีหมายเลขสองต่อท้ายก็เพราะเขาไปสวมรอยเอาชื่อคนอื่นมาใช้ครับ! เรื่องของเรื่องคือตอนที่เขาเริ่มจะมีชื่อเสียงขึ้นมาในเมืองมิสซิสซิปปี้ในฐานะมือฮาร์โมนิก้านั้น ในชิคาโก้นั้นก็มีมือฮาร์โมนิก้าฝีมือดีชื่อ Sonny Boy Williamson อยู่แล้ว คนนี้นี่ฝีมือดีถึงขนาดเรียกว่าบิดาของบลูส์ฮาร์โมนิก้าเลยก็ว่าได้ ส่วน Rice Miller ขณะนั้นจะเห็นเป็นโอกาสหรืออย่างไรไม่ทราบได้ก็ถือโอกาสประกาศกับเจ้าของเฟสติวัล ผู้ว่าจ้างทั้งหลายในแถบมิสซิสซิปปี้ว่าเขานี่แหละคือ Sonny Boy Williamson แต่เนื่องจากเมืองทั้งสองนั้นอยู่ไกลกันมากจนคนสมัยนั้นแทบไม่มีทางรู้ กว่าเรื่องจะไปถึงหู Sonny Boy ตัวจริง Rice Miller ก็ได้กลายเป็น Sonny Boy ไปแล้วเรียบร้อย เกิดเป็นความสับสนอยู่พักใหญ่จนต่อมาบริษัทแผ่นเสียงจึงตัดสินใจใส่หมายเลขหนึ่ง และสองต่อท้ายชื่อของทั้งคู่เพื่อแก้ปัญหา อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นที่กล่าวขานถึงนิสัยตุกติกตรงข้ามกับฝีมือที่ไม่เป็นรองใครก็คือเรื่องที่เขาไปรับงานจ้างมาให้เอาวงไปเล่นที่ Juke Joint เงินก็รับเขามาสำหรับทั้งวง คนในวงก็เตรียมตัวกันไปเล่นที่งาน ไปถึงหน้างานก่อนงานเริ่มเขาก็ดันไล่สมาชิกออกทั้งวงเสียอย่างนั้น อ้างเหตุผลต่างๆนานา แล้วเขาก็ไปบอกเจ้าของงานว่าร้านแค่นี้เขาคนเดียวก็เอาอยู่สบายๆ เรื่องของเรื่องคือเขาทำได้เสียด้วย สุดท้ายคือรับงานราคาเต็มวง แต่เข้าไปเล่นคนเดียว ค่าจ้างรับเต็มๆคนเดียว! คนแบบนี้ก็มีครับ แสบจริงๆ

พูดเรื่องนิสัยส่วนตัวของเขาไปพอประมาณก็ขอพูดถึงผลงานดนตรีของเขาสักหน่อย ศิลปินนี้เป็นคนแรกครับสำหรับผมที่ทำให้เริ่มเห็นว่าบลูส์นั้นไม่ต้องดัง ไม่ต้องตะคอก ตะโกน ก็เสียวสันหลังวาบได้ สไตล์ของเขานั้นกึ่งร้องกึ่งพูด เป่าฮาร์พไม่ดัง แต่สำเนียงและเทคนิคดี ทั้งร้องทั้งเป่าสื่อความหมายได้ชัดเจนมากครับ หลายๆเพลงที่เนื้อเพลงพูดถึงคนอารมณ์หมิ่นเหม่ที่จะก่ออาชญากรรม หรือทำอะไรไม่ดีนี่บางทีผมเชื่อสนิทใจ เพราะมันรู้สึกได้ว่าเขาไม่ได้แสดงเป็นใครอื่น มันมาจากคนที่เป็นแบบนั้นจริงๆ พูดอย่างไรก็ร้องและเล่นออกมาอย่างนั้น ตามขนบดั้งเดิมของบลูส์เลยก็ว่าได้ นอกเหนือไปจากนั้นหลายๆเพลงของเขานั้นก็ดีเข้าขั้นเป็นบลูส์สแตนดาร์ดครับ ถึงจะไม่ได้ถูกนำมาเล่นบ่อยครั้งเท่าเพลงของ Muddy Waters แต่เพลงอย่าง Help Me, Don’t start Me To Talking, Eyesight To The Blind ก็น่าจะผ่านหูแฟนเพลงบลูส์กันมาบ้างไม่เวอร์ชั่นใดก็เวอร์ชั่นหนึ่ง และเรื่องสุดท้ายที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือลีลาบนเวทีของเขาครับ อย่างที่บอกไปข้างต้นครับว่าแนวการเล่นการร้องของเขานั้น ไม่ได้กระโชกโฮกฮาก ออกไปทางกึ่งร้องกึ่งพูดเสียด้วยซ้ำ บุคลิกบนเวทีและการแต่งตัวของก็เหมือนการเล่นของเขายังไงยังงั้นครับ ไม่ว่าจะเป็น Suitcase, ร่ม, Bowler hat ที่เขามักจะต้องถือขึ้นเวทีเพื่อเป็นพร็อพการแสดง ย้ำนะครับ เพื่อเป็นพร็อพเท่านั้น! การพูดหรือร้องที่บางครั้งตั้งใจเบาจนทั้งสตูดิโอต้องเงี่ยหูฟัง บทจะโชว์ฝีมือขึ้นมาบางครั้งเขาก็เอาฮาร์โมนิก้ายัดใส่ปากแล้วเป่าโดยไม่ใช้มือ หรือแม้กระทั่งเป่าทางจมูกก็ทำมาแล้ว! ถือเป็น One of a kind จริงๆครับ น่าเสียดายว่าเขานั้นไม่ชีวิตอยู่ไม่นานมาก เสียชีวิตเมื่ออายุห้าสิบกว่าๆเนื่องจากสภาพร่างกายไม่แข็งแรงอันเป็นผลต่อเนื่องมาจากลักษณะการใช้ชีวิตอันหนักหน่วง ไม่เช่นนั้นคงมีงานดีๆให้เราได้ย้อนกลับไปติดตามมากกว่านี้

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวเล็กๆน้อยๆของยอดมือฮาร์โมนิก้าตัวแสบคนนี้ที่อยากเอามาเล่าสู่กันฟังครับ.

B.B. King – Live at the Regal

B.B. King – Live at the Regal

B.B. King – Live at the Regal

ถ้าจะพูดถึงนักดนตรีบลูส์ที่ประสบความสำเร็จและมีอิทธิพลกับนักดนตรีรุ่นหลังมากที่สุดก็เห็นจะไม่มีใครเกิน B.B. King ถ้าไม่นับว่าบีบีถือเป็นคนที่สุขภาพดีมีอายุยืนยาวส่งผลให้ได้ทำงานเพลงออกมาอย่างต่อเนื่องผ่านหลายยุคหลายสมัยแล้ว วิธีการเล่นและร้องของเขาถ้าเทียบกับเหล่าศิลปินระดับตำนานในยุคเดียวกันนั้น จะเห็นได้ว่าดนตรีในลักษณะของบีบีคิงนั้นจะมีความร่วมสมัยอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใดก็ตาม จนอาจจะพูดได้ว่านี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดนตรีของเขานั้นมีอิทธิพลมากต่อวงการบลูส์ เพราะลักษณะที่ร่วมสมัยนั้นเป็นปัจจัยเชื่อมสำคัญที่ทำให้นักดนตรีจากต่างถิ่นต่างวัฒนธรรมรู้สึกได้ว่าบลูส์นั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของคนดำจากตอนใต้เพียงอย่างเดียว ใครๆก็สามารถเข้าถึงบลูส์และตีความบลูส์ในแบบของตนได้ นอกจากนี้ดนตรีที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าบลูส์แบบ traditional ก็ยังเป็นการเปิดประตูบานใหม่ สร้างกลุ่มผู้ฟังใหม่ๆ และเบิกทางไว้ให้กับนักดนตรีรุ่นหลังๆได้มีโอกาสสร้างงานและถูกค้นพบได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

ผมเชื่อแน่ๆว่าหลายท่านๆที่เป็นแฟนดนตรีบลูส์จะมีอัลบั้มของบีบีคิงอยู่ในครอบครองจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่ถ้าทันซื้อกันก็อาจจะเป็นอัลบั้มที่ออกมาตั้งแต่ช่วงยุค 90’s เรื่อยมาจนอัลบั้มสุดท้ายก่อนที่เขาจะเสียชีวิต แต่อัลบั้มที่ผมอยากจะแนะนำวันนี้คืออัลบั้มที่ออกมาตั้งแต่ปี 1965 ครับ ชื่อว่า Live At The Regal ถ้าถามว่าทำไมต้องอัลบั้มนี้ ทั้งๆที่อัลบั้มอื่นที่ดีๆก็เยอะมาก ก็ต้องบอกเลยครับว่าเวลาผมอ่านบมสัมภาษณ์นักดนตรีบลูส์ระดับแถวหน้าของวงการทีไร ไม่ว่าจะเป็น Eric Clapton, John Mayall, Mark Knopfler, John Mayer , Jimmie Vaughan และศิลปินอื่นๆอีกหลายคนนั้น หากมีการพูดถึงบีบีคิงก็ต้องมีชื่ออัลบั้มนี้เอ่ยขึ้นมาแทบจะร้อยทั้งร้อยในฐานะอัลบั้มที่เป็นแรงบันดาลใจ

ตรงนี้หากท่านลองไปฟังจะเห็นได้ชัดเจนครับว่าต่างกับภาพของบีบีที่เราคุ้นเคยในยุคหลังๆพอสมควรเลยทีเดียว บีบีในปี 65 นั้นเพิ่งจะอายุสี่สิบ ยังยืนไหวไม่ได้นั่งเก้าอี้อย่างที่เราคุ้นเคยกันในช่วงหลัง เป็นนักร้อง นักเล่าเรื่องในภาษาบลูส์ที่ดีที่สุดคนหนึ่งในวงการ และเล่นกีตาร์ดุดันกว่าที่เราๆอาจจะคุ้นเคยกันพอสมควรเลยครับ ทั้ง tone และ phrasing นับว่าเป็นอัลบั้มที่ดิบเอาเรื่อง แต่ก็เต็มไปด้วยพลังงาน โดยเฉพาะการโต้ตอบระหว่างบีบีเอง และคนดูใน Regal Theater ก็ยิ่งทำให้ได้บรรยากาศมากขึ้นไปอีก ตรงนี้ถ้าผู้อ่านท่านไหนมีเครื่องเสียงดีๆ เบียร์เย็นๆถือไว้ในมือ หลับตาลงพาลอาจจะจินตนาการไปได้จริงๆครับว่าเรานั้นนั่งอยู่ในบลูส์คลับหรือไม่ก็ไปอยู่ในคอนเสิร์ตตรงนั้นกับเขาด้วยจริงๆ

อัลบั้มนี้ครบเครื่องจริงๆอย่างที่เขาว่ากันครับไม่ว่าท่านจะเป็นแฟนเพลงบลูส์ฟังเพื่อความเพลิดเพลิน หรือนักดนตรีที่ต้องการศึกษาบลูส์จากหนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดของตำนานบลูส์ที่ชื่อ B.B. King คนนี้ แนะนำให้หามาไว้ในครอบครองครับ

Rain

Rain

Rain

เริ่มเขียนให้กับ Bangkok Mojo อย่างเป็นทางการในหน้าฝน ผมก็เลยอยากจะเขียนอะไรเกี่ยวกับฝนสักหน่อย แต่ก่อนอื่นขออนุญาตอธิบายไว้ตรงนี้สักนิดหนึ่งครับ ว่าเราแพลนที่จะมีคอลัมน์เกี่ยวกับบลูส์ในหลายลักษณะ และคอลัมน์ บลูส์รำพึง ที่ผมเขียนอยู่นี้ก็จะเป็นบทความที่สัพเพเหระสักหน่อย ประมาณว่าช่วงที่เขียนอยู่นึกถึงเรื่องอะไรก็จะเขียนถึงเรื่องนั้น แต่ก็รับรองได้ครับว่าหากท่านผู้อ่านสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีบลูส์เราจะไม่ทำให้ท่านเสียเวลารูดมือถือหรือนั่งหน้าคอมฯโดยเปล่าประโยชน์แน่นอน

ขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้เมฆผนกำลังตั้งเค้า ลมพัดกลิ่นฝนมาแตะจมูกแล้ว ก็ทำให้นึกดีใจว่าชงกาแฟได้ถูกเวลาจริงๆ บ่ายนี้คงได้จิบกาแฟไปทำงานไปพร้อมกับฝนที่ตกอยู่ด้านนอก เพลินน่าดูครับ ว่าแล้วก็เอื้อมมือไปหยิบโทรศัพท์มือถือเพื่อเปิดเพลงเคล้าบรรยากาศ(ผมก็หนึ่งคนที่ติดนิสัยฟังเพลงผ่านทาง streaming ไปเรียบร้อย) บังเอิญจริงๆที่หนึ่งในเพลงที่แอพพลิเคชั่นมันสุ่มขึ้นมาคือเพลงที่ชื่อว่า “Rain” ของวงที่ชื่อว่า “Little Charlie & The Nightcats” ครับ เหมาะเจาะจริงๆเลยจะถือโอกาสนี้พูดถึงวงนี้เสียเลย

เพลงนี้มาจากอัลบั้มแสดงสดชื่อว่า “Captured Live” ครับ แต่งโดยนักร้องนำและมือฮาร์โมนิก้าของวง Rick Estrin ส่วนกีตาร์นั้นบรรเลงโดยหัวหน้าวง Charlie Baty ก็คงจะพอเดาได้นะครับว่าชื่อวงก็ตั้งตามชื่อของเขานั่นเอง วงนี้มีเรื่องให้พูดถึงเยอะครับ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการแต่งเพลงของ Rick Estrin อันนี้ต้องยกให้เขาเลยครับ เพราะว่าตั้งแต่ตั้งวงมาในปี 1987 จนมาถึงปัจจุบัน วงนี้แทบไม่เคย cover เพลงของใครเลยทั้งๆที่เป็นเรื่องปรกติมากๆในวงการบลูส์ เพลงของวงนี้เกินกว่า 90% คือปลายปากกาของเขาคนนี้ล้วนๆครับ อีกอย่างถ้าใครฟังภาษาอังกฤษเข้าใจหรือจะลองแปลเพลงของวงนี้ดู จะพบว่าฝีมือการเล่าเรื่อง หักมุม แทรกมุขตลกซึ่งเป็นลักษณะเด่นของเขานี่ไม่ธรรมดาเอามากๆครับ นอกจากนี้ฝีมือการเป่าฮาร์โมนิก้าของ Rick ตอนนี้ต้องถือได้ว่าเป็นตำนานของวงการคนนึงแล้วครับ ถือเป็น frontman ที่ครบเครื่องมากๆ ส่วนหัวหน้าวง/มือกีตาร์ Charlie Baty นั้นในวงการ Traditional Blues นั้นก็อยู่ในระดับปรมาจารย์คนหนึ่งครับ เรียกว่าไม่มีอะไรที่เขาเล่นไม่ได้ ลักษณะเด่นของการอิมโพรไวส์ของชาร์ลีนั้นคือความน่าตื่นเต้นและสดใหม่ตลอดเวลาครับ ไม่ใช่ผู้เล่นแบบ lick ต่อ lick แต่จะคิดสดๆตรงนั้นเลยจริงๆ เป็นคนที่เล่นกีตาร์ซนและสร้างสรรค์มากๆครับ วงนี้หลักๆคือสองคนนี้ครับก่อนที่ Charlie จะหยุดเล่นไปในลักษณะกึ่งรีไทร์เพราะไม่อยากเดินทางบ่อยๆ ทุกวันนี้หากท่านไหนอยากติดตามผมงานของวงนี้ก็สามารถติดตามได้ในชื่อ Rick Estrin & The Nightcats ครับ ทางวงยังมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมือกีตาร์ที่มาแรงที่สุดคนหนึ่งในวงการ Kid Andersen ครับ ซึ่งคนนี้ก็น่าสนใจมากๆสักวันคงมีโอกาสได้เขียนถึงเขาให้ได้อ่านกันครับ.

*หากโทนกีตาร์ของ Charlie Baty ในคลิปจะทำให้บางท่านคิดไปถึงโทนของเทพกีตาร์ SRV นั่นคือความคล้ายคลึงที่เกิดจาก combination นี้ครับ Strat คอดำ, สาย Gauge .11, Fender Super Reverb (cranked) ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จที่นิยมกันพอสมควรในกลุ่มมือกีตาร์สาย Traditional Blues ครับ