ฮิปเตอร์บ้านไร่(3) : Lightnin’ Hopkins

ฮิปเตอร์บ้านไร่(3) : Lightnin’ Hopkins

ฮิปเตอร์บ้านไร่(3) : Lightnin’ Hopkins

สวัสดีครับ ช่วงนี้ดูเหมือนเราจะวนๆเวียนๆอยู่ที่ศิลปินจากเท็กซัสไม่ว่าจะเป็นสองพี่น้องตระกูล Vaughan หรือ Freddie King ไหนๆก็ไหนๆแล้วก็จะขออนุญาตเขียนถึงศิลปินจากเท็กซัสอีกคนที่มีอิทธิพลมากๆต่อศิลปินบลูส์ยุคต่อมานั่นคือ Lightnin’ Hopkins ครับ ซึ่งผมเองได้พูดถึงไว้นิดหน่อยในตอนที่เขียนเกี่ยวกับสองพี่น้องตระกูล Vaughan ว่าเขาคนนี้เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญในเรื่องของวิธีการเล่นของ Jimmie Vaughan ที่ตรงนี้เองก็ส่งผลโดยตรงกับ SRV ซึ่งเป็นน้องชายอีกต่อหนึ่ง ตรงนี้เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันต้องบอกไว้ก่อนนะครับว่าผมไม่ได้หมายถึงว่าศิลปินท่านอื่นๆไม่ได้มีอิทธิพลกับสองพี่น้องคนนี้มากมาย แต่ในแง่หนึ่งการเล่นริทึ่มที่น่าสนใจและอาจจะซับซ้อนกว่าศิลปินอิเล็คทริคบลูส์คนอื่นๆนั้น ชัดเจนว่าเป็นอิทธิพลของ Lightnin’ Hopkins ครับ  

พอนึกว่าจะเขียนเรื่องของ Lightnin’ แล้วก็อดไม่ได้ครับที่จะเอามารวมไว้ในหัวข้อฮิปเสตอร์บ้านไร่ เพราะอะไรน่ะเหรอครับ? ก็เพราะว่าวงการบลูส์ในยุคนั้นถ้าพูดถึงเรื่องสไตล์การแต่งตัว บุคลิกความไหลลื่นและเป็นธรรมชาติในการแสดงดนตรี ความเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ชั้นเยี่ยมทั้งที่มักจะใช้แค่อคูสติคกีตาร์เพียงตัวเดียวทำการแสดงผมว่าไม่น่าจะมีใครเกินเขาคนนี้ เราลองมาดูคลิปที่เขาพูดถึงดนตรีบลูส์กันครับ  

   

นั่นล่ะครับ แว่นดำที่เราจะเห็นเขาสวมอยู่แทบตลอดเวลา เสื้อผ้าที่ไม่เป็นที่คุ้นชินตามแบบของคนบลูส์ในยุคนั้นที่เรามักจะเห็นกัน แต่เราจะเห็นเขาใส่เสื้อเชิ้ตลำลองสบายๆ หรือไม่ก็เสื้อคอเต่ากับสเว็ตเตอร์ นั่งลงพร้อมกับอคูสติคกีตาร์แล้วก็เล่นบลูส์ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกให้เราฟัง ดูๆไปแล้วก็รู้สึกว่าเท่จริงๆครับ  

แทบตลอดชีวิตของเขานั้นมักจะวนๆเวียนๆอยู่ที่เท็กซัส ตัวเขาเองนั้นค่อนข้างที่จะประสบความสำเร็จ ถึงแม้จะไม่ได้ดังเปรี้ยงปร้างอย่างเพื่อนร่วมรุ่นหรือแม้แต่รุ่นน้องในชิคาโก้ที่จับกลุ่มกันพัฒนาดนตรีบลูส์ไปในทิศทางของการเล่นเต็มวง เล่นเป็นอิเล็คทริคมากกว่าอคูสติค แต่เขาเองที่ยืนหยัดเล่นอคูสติคบลูส์ด้วยกีตาร์เพียงตัวเดียวมาตลอดก็ไม่เคยตกอับ มีผลงานอัดเสียงออกมาอย่างสม่าเสมอมากมาย หนำซ้ำยังได้รับการยอมรับในระดับที่ดีพอสมควรอีกด้วย   เรื่องของสไตล์การเล่นนั้น ถึงเขาจะนับได้ว่าอยู่ร่วมรุ่นกันกันศิลปินอคูสติคบลูส์ระดับตำนานคนอื่นๆหลายท่านไม่ว่าจะเป็น Son House, Robert Johnson แต่การเล่นในแบบเฉพาะตัวที่เขาพัฒนาขึ้นมานั้นในความเห็นส่วนตัวของผมแล้วถือว่าเป็นสะพานเชื่อมที่สำคัญอันหนึ่งในการพัฒนาการเล่นบลูส์จากอคูสติคกีตาร์ขึ้นมาสู่กีตาร์ไฟฟ้า เนื่องจากการเล่นหลายๆอย่างของเขานั้นเริ่มมีความคิดที่หลุดออกมาจากกรอบการเล่นอคูสติคบลูส์แบบเดิมๆที่ได้อิทธิพลมาจากโฟล์คอีกทอดหนึ่ง หากเราสังเกตุให้ดีก็จะเห็นว่า Licks และการเล่นริทึ่มของเขานั้นหากใครศึกษาก็สามารถนำมาใช้บนกีตาร์ไฟฟ้าได้เลยแทบจะทันที ซึ่งตรงนี้เองจะแตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัดจากศิลปินอคูสติคบลูส์คนอื่นๆที่วิธีการเล่นนั้นจะไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้บนกีตาร์หรือการเล่นกับแบนด์ได้โดยตรง ตรงนี้นี่เองครับที่ผมมองว่าคือความสำคัญของนิยามแห่งความคูลจากเท็กซัสคนนี้ Lightnin’ Hopkins ครับ.

ฮิปสเตอร์บ้านไร่(2) : RL BURNSIDE

ฮิปสเตอร์บ้านไร่(2) : RL BURNSIDE

ฮิปสเตอร์บ้านไร่(2) : RL BURNSIDE

หายหน้าไปหลายวันกับการพยายามทำซิงเกิ้ลแรกของวงตัวเอง ตอนนี้เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ขอกลับมาเขียนหัวข้อที่ค้างคาเอาไว้ครับ ฮิปสเตอร์บ้านไร่วันนี้ขอพูดถึงตัวแสบอีกคนหนึ่ง(ทางด้านงานดนตรี)ของวงการที่เริ่มต้นชีวิตนักดนตรีจากท้องทุ่งทางตอนเหนือของมิสซิสซิปปี้แต่อัลบั้มก่อนเสียชีวิตนั้นกลับมีกลิ่นอายอิเลคทรอนิคส์และฮิปฮอปอย่างเข้มข้น! คนนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้ครับนอกจาก RL Burnside ครับ  

ผมเองมีโอกาสได้รู้เรื่องราวเกี่ยวศิลปินท่านนี้ผ่านทางสารคดีที่นักดนตรีชาติพันธุ์ชาวอเมริกันชื่อ Alan Lomax ได้จัดทำไว้และผู้นำมาแบ่งตอนลงไว้ในยูทูบภายใต้ชื่อ Alan Lomax Archive ซึ่งมาเนื้อหาเยอะมากๆและมีศิลปินสำคัญๆหลายคนอยู่ในนั้น น่าสนใจและน่าติดตามศึกษามากๆครับหากท่านผู้อ่านอยากทราบถึงที่มาที่ไปของดนตรีที่มาจากชาวแอฟริกัน-อเมริกัน แนวทางการเล่นของ RL ในยุคแรกๆนั้นเป็นลักษณะ percussive กล่าวคือจะเน้นด้านจังหวะเป็นหลัก(จริงๆแล้วแทบจะพูดได้ว่ามากกว่าหรืออย่างน้อยๆก็พอๆกันกับเมโลดี้) ซึ่งเมื่อฟังแล้วสำหรับผมบางครั้งก็พาลจะนึกถึงดนตรีแอฟริกันแท้ๆเอาได้ง่ายๆ ใครๆเขาก็ว่าบลูส์มาจากแอฟริกันมิวสิคแต่บลูส์ที่เราๆคุ้นกันนั้นก็พัฒนาไปไกล แต่สำหรับงานของ RL ในยุคแรกๆนั้นผมว่าเป็นอะไรที่ยืนยันคำพูดนี้ได้เป็นอย่างดีครับ

ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านจะรู้สึกแบบเดียวกันหรือเปล่านะครับ แต่ตอนดูคลิปนี้เป็นครั้งแรกนี่ผมรู้สึกประทับใจมาก ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีใครเล่นเพลงคอร์ดเดียวให้เท่ขนาดนี้ได้ ความเก๋าทะลุจอมากๆครับ อีกอย่างก็คือว่าดนตรีแบบนี้ ฉากหลังแบบนี้คิดถึงอะไรที่เราคุ้นเคยกันมั้ยครับ?  

ครั้งแรกที่ผมได้ดูคลิปนี้มันมีอะไรหลายๆอย่างที่พาให้ผมหวนกลับมานึกถึงดนตรีพื้นบ้านอีสานครับ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางดนตรีที่เน้นริทึ่มมากกว่าเมโลดี้ การยืนคอร์ดเดียวตลอดทั้งเพลงหรือที่เรียกว่า Drone หรือสเกลเพนทาทอนิคที่ใช้ หรือไม่ว่าจะเป็นภูมิทัศน์ที่ดูๆไปก็มีความคล้ายคลึงกันหลายๆอย่าง อย่างดินลูกรัง มีรั้วลวดหนามที่แบ่งอาณาเขตอย่างคร่าวๆ และทุ่งหญ้าแห้งๆ คนพื้นถิ่นทั่วโลกบางทีมีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมได้อย่างน่าตกใจเหมือนกันครับ  

RL นั้นเริ่มต้นจากการเป็นนักดนตรีท้องถิ่นที่สุดท้ายก็ไปแสวงโชคในเมืองใหญ่อย่างชิคาโก้ตามอย่างนักดนตรีคนอื่นร่วมยุคร่วมสมัย แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรมากมายนักอาจจะเป็นด้วยว่าแนวดนตรีที่เขาเล่นนั้นไม่ได้เหมาะกับเมืองใหญ่อย่างชิคาโก้ที่ขณะนั้นกำลังจะขยับไปสู่บลูส์ที่ดังขึ้น เข้มข้นขึ้น น่าตื่นเต้นขึ้นอย่างดนตรีของค่าย Chess Records ในเวลาต่อมา อยู่ที่ชิคาโก้เพียงสองสามปีไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเขาก็เป็นอันต้องย้ายกลับไปอยู่ทางใต้เหมือนเดิม ช่วงกลางของชีวิตนั้น RL ต้องทำอะไรหลายๆอย่างไปพร้อมๆกันเพื่อประทังชีวิต ถึงจะไม่อดอยากแต่ก็ไม่ได้ร่ำรวยครับ เล่นดนตรีในลักษณะพาร์ทไทม์เสียเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งก็เปิดบาร์เล็กๆบ้าง โดยระหว่างนั้นก็ทำการเกษตรคู่กันไปโดยตลอด(Alan Lomax ได้ตามไปอัดสารคดีถึงบ้านของเขาในช่วงนี้ครับ) ความสำเร็จทางด้านยอดขายเพลงของเขานั้นตามมาในช่วงสิบกว่าปีสุดท้ายของชีวิตครับ จากการเข้าร่วมงานกับค่าย Fat Possum Records ซึ่งอัลบั้มในช่วงนี้ได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่บวกเป็นอย่างมากทั้งจากแฟนเพลงและนักวิจารณ์ ยิ่งไปกว่านั้นการร่วมงานกับ Jon Spencer ตามมาด้วย Tom Rothrock ในภายหลังได้ผลักดนตรีบลูส์ดิบๆในแบบดั้งเดิมของ RL ออกไปไกลจนเหยียบย่างขอบเขตของเทคโนและฮิปฮอปแต่กลับผสมผสานกันได้อย่างลงตัว เราลองย้อนกลับไปดูคลิปด้านบนอีกครั้ง แล้วลองมาฟังอัลบั้มสุดท้ายในชีวิตของเขาเปรียบเทียบกันเป็นการปิดท้าย แบบนี้ไม่ให้เรียกว่าฮิปก็ไม่รู้ว่าไงแล้วครับ!

ฮิปสเตอร์บ้านไร่(1) : Slim Harpo

ฮิปสเตอร์บ้านไร่(1) : Slim Harpo

ฮิปสเตอร์บ้านไร่(1) : Slim Harpo

วันนี้ตั้งใจจะเขียนเรื่องศิลปินบลูส์นอกกระแสครับ ซึ่งเป็นผลมาจากบทสนทนากับพี่ๆช่วงสองสามวันที่ผ่านมาถึงความคล้ายคลึงของเพลงบลูส์บางลักษณะกับเพลงลูกทุ่งของเราในช่วงยุค 60’s – 70’s พูดแล้วผมก็จะนึกถึงพวกบลูส์กระแสรองโดยอัตโนมัติ อันนี้จริงจะว่าไปศิลปินเหล่านี้ในสมัยนั้นเขาก็ประสบความสำเร็จกันพอสมควรนะครับ บางคนในช่วงเวลาเดียวกันยอดขายดีกว่าก็อดฟาเธอร์ของวงการบลูส์อย่างมัดดี้ วอเตอร์สด้วยซ้ำ มาถึงตรงนี้อาจจะเป็นโอกาสดีที่จะได้แจกแจงนิดนึงครับว่าการยึดเอาบลูส์ในแบบของมัดดี้หรือที่เรียกกันว่าชิคาโก้บลูส์เป็นสแตนดาร์ดของบลูส์เลยนั้น จริงๆแล้วทำไม่ได้เพราะชื่อก็บอกอยู่ครับว่ามันเป็นบลูส์ของเมืองชิคาโก้ ในอเมริกานั้นมี 50 รัฐและแต่ละรัฐนั้นก็มีหลายเมืองท่านผู้อ่านลองคิดดูสิครับว่าวัฒนธรรมพื้นถิ่นจะต่างกันได้ขนาดไหน บลูส์ในฟอร์แมตที่เราคุ้นกันว่าเป็น 12 bar blues, มีนักร้องนำกึ่งร้องกึ่งตะโกน และเสียงกีตาร์แตกๆนั้น เป็นรูปแบบที่เริ่มต้นที่ชิคาโก้และได้รับการพัฒนาต่อยอดมากที่สุดด้วยเหตุผลหลายๆอย่าง แต่ในเวลาเดียวกันห่างออกไปเป็นพันๆไมล์ไม่ว่าจะเป็นทางใต้ ทางตะวันออก หรือตะวันตกบลูส์ที่กำลังเกิดขึ้นอาจจะแตกต่างออกไปอย่างมากก็เป็นได้  

วกกลับมาเข้าหัวข้อของวันนี้พอพูดถึงความคล้ายคลึงกับเพลงลูกทุ่งของเราเมื่อสี่สิบ-ห้าสิบปีก่อน ชื่อแรกๆที่โผล่ขึ้นมาในหัวคือ Slim Harpo ครับ ทำไมต้อง Slim Harpo? คนนี้นี่ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่าเขาไม่เหมือนใครจริงๆครับ ถ้าเป็นศัพท์วัยรุ่นสมัยนี้ก็ต้องเรียก ฮิปสเตอร์ตัวพ่อ อะไรประมาณนั้นเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การแต่งตัวหรือแอตติจูดในการทำเพลง เขาเป็นคนแรกๆที่ช่วยทำให้เกิดซาวนด์ในแบบ Swamp Blues ซึ่งเป็นบลูส์ที่เกิดจาก Louisiana (Swamp หมายถึงดินแดนชุ่มน้ำซึ่งเป็นลักษณะเด่นทางธรณีวิทยาของ Louisiana) บลูส์ในลักษณะนี้ต่างจากบลูส์กระแสหลักพอสมควรเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจังหวะที่มีความหลากหลายกว่า และมักจะเล่นกันแบบหลวมๆสบายๆ(laid back) จังหวะ Shuffle ในแบบชิคาโก้นั้นแทบไม่มีเลยครับ ฟอร์มของเพลงนั้นก็มักจะมีอะไรที่นอกเหนือจาก 12 bar blues และบ่อยครั้งที่ก็เป็นไปได้จะยืนคอร์ดเดียวไปจนจบเพลง(ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่คล้ายคลึงกับเพลงลูกทุ่งและหมอลำของไทยครับ) เนื้อหาของเพลงถ้าเป็นเรื่องของความโกรธแค้นแทบไม่มีให้เห็น อาจจะมีเศร้าบ้าง แต่ Slim Harpo นั้นแม้กระทั่งการขอให้แฟนเกาหลังให้เขาก็เอาไปแต่งเป็นเพลงมาแล้ว(Baby Scratch My Back) แถมขึ้นชาร์ตเสียด้วย! นอกจากนี้แล้ววิธีการร้องเพลงของเขาก็ต่างออกไปจากบลูส์กระแสหลักอย่างสิ้นเชิง อันที่จริงเรียกว่ากึ่งร้องกึ่งพูดก็น่าจะเห็นภาพชัดเจนกว่า ทั้งหมดนี้รวมกันพูดเป็นศัพท์วัยรุ่นอีกสักทีก็คงต้องบอกว่า ลุงสลิมแกชิลจริงๆครับ!

ลักษณะเฉพาะที่แตกต่างออกไปอย่างมากจากบลูส์กระแสหลักแบบนี้บางทีมันก็มีลักษณะบางอย่างที่คล้ายคลึงกับเพลงลูกทุ่งบ้านเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นซาวนด์ดนตรี เนื้อหาหยิกแกมหยอก บรรยากาศโดยรวมที่ค่อนข้าง laid back

เรามาลองฟังเพลงนี้ดูครับ Tip On In ฟังแล้วลองจินตนาการเปลี่ยนเสียงร้องเป็นภาษาอีสานเล่าเรื่องราวอะไรก็ได้สนุกๆ ผมรับประกันว่าเห็นภาพครับ!  

วันนี้ขออนุญาติแถมอีกคลิปเป็นของไวพจน์ เพชรสุพรรณ ลองฟังดูครับ คิดแล้วบางทีก็ยังเสียดายว่าดนตรีบ้านเรายุคนั้นก็ใช่ย่อย แต่ยุคหนึ่งถูกมองเป็นของเชย ตอนนี้ถ้าใครเริ่มมองเห็นจุดเชื่อมระหว่างดนตรีบลูส์ฮิปๆแบบนี้กับวัฒนธรรมบ้านเราเกิดเป็นไอเดียจะทำเพลงแบบนี้ออกมาคงเท่ไม่เบาครับ.

Fenton Robinson – Mellow Guitar Genius

Fenton Robinson – Mellow Guitar Genius

Fenton Robinson – Mellow Guitar Genius

วันนี้ผมนั่งฟังรายการ Lovin’ Blues Radio (เทปที่สาม) ที่คุณป๊อปจัด ฟังไปได้ถึงเพียงเพลงที่สองที่คุณป็อปเลือกมาก็ต้องนึกแปลกใจผสมดีใจว่าโอ้โฮนี่มีคนที่รสนิยมตรงกับเราขนาดนี้ ทั้งๆที่เพลงที่ผมเลือกมาฟังหรือเล่นกับที่วงบางทีก็เลือกกึ่งทำใจว่าถึงเราจะคิดว่ามันเป็นเพลงที่ดีแต่บางทีอาจจะเข้าถึงยากเกินไปสำหรับลูกค้าหลายๆท่าน แต่ก็ยังอดไม่ได้ที่จะเอามาเล่น เพราะฉะนั้นอารมณ์แบบนี้เวลาเจอคนคอเดียวกันมันดีใจบอกไม่ถูกครับ

เพลงที่สองของเทปนี้คุณป๊อปเปิดเพลง You Don’t Know What Love Is ของ Fenton Robinson ซึ่งบังเอิญช่วงหลังผมเองก็เล่นเพลงนี้กับที่วงบ่อยมาก เลยจะถือโอกาสพูดถึงศิลปินคนนี้สักหน่อยครับ เรื่องราวชีวิตของเฟนตันในฐานะนักดนตรีบลูส์นั้นอันที่จริงสรุปให้เข้าใจง่ายๆก็คือ เป็นศิลปินฝีมือดีที่เหมือนโชคไม่ดีอยู่ผิดที่ผิดเวลา ไม่ได้กลายเป็นที่รู้จักและจดจำเหมือนเพื่อนร่วมรุ่นทั้งที่ฝีมือใกล้เคียงกัน อันที่จริงเขาเองนั้นนับว่ารุ่นไม่ห่างกันมากกันนักร้องบลูส์ระดับแถวหน้าอย่าง B.B. King และ Bobby Blue Bland เป็นหนึ่งในกลุ่มนักดนตรีบลูส์จากมิสซิสซิปปี้ที่ไปแสวงโชคในชิคาโก้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่กลุ่มแรกๆที่ขึ้นไปจากตอนใต้(อย่างเช่นกลุ่มที่ไปอยู่กับ Chess Records) แต่ก่อนจะขึ้นไปนั้นเขามีชื่อเสียงระดับท้องถิ่นอยู่แล้วจากการออกอัลบั้มในเทนเนสซี ก็ถือได้ว่าเขานั้นไม่ถึงกับลำบากขนาดยากจนข้นแค้นแต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จจนดังเปรี้ยงปร้างอย่างเพื่อนร่วมรุ่นหลายๆคน

สไตล์ของเขานั้นค่อนข้างนุ่มนวล สุภาพ และมักจะเด่นไปที่เพลงช้า (Slow Blues) ซึ่งก็มักจะอยู่ในโทนเสียงไมเนอร์ทำให้ภาพลักษณ์ของการเป็นนักร้องสไตล์เศร้าเหงาอาจจะติดตัวเขาอยู่สักหน่อย แต่ถ้ามองภาพรวมว่าในวงการบลูส์นั้นมีศิลปินที่ขับเคลื่อนด้วยฮอร์โมน testosterone เป็นส่วนใหญ่แล้วนั้น การมีศิลปินสไตล์นุ่มลึกแบบเฟนตันก็เป็นทางเลือกในการฟังที่ควรรู้จักไว้เหมือนกันครับ เพลงสร้างชื่อของเขาเป็นเพลงช้าแทบทั้งหมดครับไม่ว่าจะเป็น As The Years Go Passing By, You Don’t know What Love Is, Somebody Loan Me A Dime เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งมักจะถูกนำไปคัฟเวอร์โดยศิลปินที่ประสบความสำเร็จมากกว่าตัวเฟนตันเองแทบทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็น Albert King, Jeff Healy, Boz Scaggs & Duane Allman, Rick Derringer, Sean Costello, Gary Moore หรือแม้กระทั่ง Santana เป็นต้น

คลิปที่เลือกมาให้ฟังอันนี้คือเพลงไตเติ้ลแทร็คจากอัลบั้ม Somebody Loan Me A Dime อัลบั้มที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของเขาซึ่งออกกับ Alligator Records ในปี 1974 ครับ.

Sonny Boy Williamson II

Sonny Boy Williamson II

Sonny Boy Williamson II

เมื่อก่อนตอนสมัยที่ผมเพิ่งฟังบลูส์มายังไม่นานมาก นอกจากเหล่ากีตาร์ฮีโร่สายบลูส์ทั้งหลายที่ทุกคนต้องรู้จัก จะให้ย้อนกลับไปถึงต้นตอของบลูส์เอาเข้าจริงๆตอนนั้นก็นึกออกอยู่ไม่กี่ชื่อ Robert Johnson, Muddy Waters, Three kings, Buddy Guy พวกนี้มองย้อนกลับไปจริงๆแล้วก็ต้องโทษนิตยสารดนตรีต่างๆอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะถึงแม้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้เข้าถึงข้อมูลที่เราไม่เคยได้รู้(สมัยนั้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตยังเข้าถึงไม่ง่ายเหมือนตอนนี้) แต่ก็เป็นส่วนสำคัญเหมือนกัน ที่จำกัดเรื่องราวให้เรารับรู้วนๆเวียนๆอยู่แค่ Jimi Hendrix, SRV, เรื่องการค้าทาส, ขายวิญญานตรงทางแยก, ฯลฯ เหตุผลก็ง่ายๆตรงที่ว่าเรื่องพวกนี้มันขายง่าย วัยรุ่นอ่านแล้วมันซูซ่าอยากไปหยิบกีตาร์มาฝึกโซโล่ แต่บ่อยเข้าหรือนานๆเข้าพวกนี้จริงๆมันก็พาเราไปถึงทางตันที่น่าเบื่อได้เหมือนกัน ให้นึกสงสัยว่า เอ๊ะ บลูส์มันมีแค่นี้จริงๆหรือยังไง

ศิลปินในกลุ่ม Blues Masters รุ่นใกล้เคียงกันกับ Muddy Waters ที่มีชื่อเสียงรองๆลงไปคนแรกที่ผมได้ฟังและประทับใจมากและอยากเอามาพูดถึงคือ Sonny Boy Williamson II(Alex Rice Miller) มือฮาร์โมนิก้าฝีมือดีที่นิสัยส่วนตัวอาจจะกวนเบื้องล่างของใครต่อใครในยุคนั้นอยู่สักหน่อย เรื่องราววีรกรรมของเขานั้นเยอะครับ เพราะความที่เป็นคนตุกติก ติดเหล้า และนิสัยเรื่องผู้หญิงนั้นก็มักจะสร้างปัญหาให้ตัวเองอยู่เรื่อย ยกตัวอย่างวีรกรรมอันดับแรกก็ต้องพูดถึงที่มาของชื่อของเขาสักหน่อย ชื่อจริงของเขานั้นอยู่ในวงเล็บซึ่งก็คือ Rice Miller ส่วนชื่อ Sonny Boy Williamson นั้นที่ต้องมีหมายเลขสองต่อท้ายก็เพราะเขาไปสวมรอยเอาชื่อคนอื่นมาใช้ครับ! เรื่องของเรื่องคือตอนที่เขาเริ่มจะมีชื่อเสียงขึ้นมาในเมืองมิสซิสซิปปี้ในฐานะมือฮาร์โมนิก้านั้น ในชิคาโก้นั้นก็มีมือฮาร์โมนิก้าฝีมือดีชื่อ Sonny Boy Williamson อยู่แล้ว คนนี้นี่ฝีมือดีถึงขนาดเรียกว่าบิดาของบลูส์ฮาร์โมนิก้าเลยก็ว่าได้ ส่วน Rice Miller ขณะนั้นจะเห็นเป็นโอกาสหรืออย่างไรไม่ทราบได้ก็ถือโอกาสประกาศกับเจ้าของเฟสติวัล ผู้ว่าจ้างทั้งหลายในแถบมิสซิสซิปปี้ว่าเขานี่แหละคือ Sonny Boy Williamson แต่เนื่องจากเมืองทั้งสองนั้นอยู่ไกลกันมากจนคนสมัยนั้นแทบไม่มีทางรู้ กว่าเรื่องจะไปถึงหู Sonny Boy ตัวจริง Rice Miller ก็ได้กลายเป็น Sonny Boy ไปแล้วเรียบร้อย เกิดเป็นความสับสนอยู่พักใหญ่จนต่อมาบริษัทแผ่นเสียงจึงตัดสินใจใส่หมายเลขหนึ่ง และสองต่อท้ายชื่อของทั้งคู่เพื่อแก้ปัญหา อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นที่กล่าวขานถึงนิสัยตุกติกตรงข้ามกับฝีมือที่ไม่เป็นรองใครก็คือเรื่องที่เขาไปรับงานจ้างมาให้เอาวงไปเล่นที่ Juke Joint เงินก็รับเขามาสำหรับทั้งวง คนในวงก็เตรียมตัวกันไปเล่นที่งาน ไปถึงหน้างานก่อนงานเริ่มเขาก็ดันไล่สมาชิกออกทั้งวงเสียอย่างนั้น อ้างเหตุผลต่างๆนานา แล้วเขาก็ไปบอกเจ้าของงานว่าร้านแค่นี้เขาคนเดียวก็เอาอยู่สบายๆ เรื่องของเรื่องคือเขาทำได้เสียด้วย สุดท้ายคือรับงานราคาเต็มวง แต่เข้าไปเล่นคนเดียว ค่าจ้างรับเต็มๆคนเดียว! คนแบบนี้ก็มีครับ แสบจริงๆ

พูดเรื่องนิสัยส่วนตัวของเขาไปพอประมาณก็ขอพูดถึงผลงานดนตรีของเขาสักหน่อย ศิลปินนี้เป็นคนแรกครับสำหรับผมที่ทำให้เริ่มเห็นว่าบลูส์นั้นไม่ต้องดัง ไม่ต้องตะคอก ตะโกน ก็เสียวสันหลังวาบได้ สไตล์ของเขานั้นกึ่งร้องกึ่งพูด เป่าฮาร์พไม่ดัง แต่สำเนียงและเทคนิคดี ทั้งร้องทั้งเป่าสื่อความหมายได้ชัดเจนมากครับ หลายๆเพลงที่เนื้อเพลงพูดถึงคนอารมณ์หมิ่นเหม่ที่จะก่ออาชญากรรม หรือทำอะไรไม่ดีนี่บางทีผมเชื่อสนิทใจ เพราะมันรู้สึกได้ว่าเขาไม่ได้แสดงเป็นใครอื่น มันมาจากคนที่เป็นแบบนั้นจริงๆ พูดอย่างไรก็ร้องและเล่นออกมาอย่างนั้น ตามขนบดั้งเดิมของบลูส์เลยก็ว่าได้ นอกเหนือไปจากนั้นหลายๆเพลงของเขานั้นก็ดีเข้าขั้นเป็นบลูส์สแตนดาร์ดครับ ถึงจะไม่ได้ถูกนำมาเล่นบ่อยครั้งเท่าเพลงของ Muddy Waters แต่เพลงอย่าง Help Me, Don’t start Me To Talking, Eyesight To The Blind ก็น่าจะผ่านหูแฟนเพลงบลูส์กันมาบ้างไม่เวอร์ชั่นใดก็เวอร์ชั่นหนึ่ง และเรื่องสุดท้ายที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือลีลาบนเวทีของเขาครับ อย่างที่บอกไปข้างต้นครับว่าแนวการเล่นการร้องของเขานั้น ไม่ได้กระโชกโฮกฮาก ออกไปทางกึ่งร้องกึ่งพูดเสียด้วยซ้ำ บุคลิกบนเวทีและการแต่งตัวของก็เหมือนการเล่นของเขายังไงยังงั้นครับ ไม่ว่าจะเป็น Suitcase, ร่ม, Bowler hat ที่เขามักจะต้องถือขึ้นเวทีเพื่อเป็นพร็อพการแสดง ย้ำนะครับ เพื่อเป็นพร็อพเท่านั้น! การพูดหรือร้องที่บางครั้งตั้งใจเบาจนทั้งสตูดิโอต้องเงี่ยหูฟัง บทจะโชว์ฝีมือขึ้นมาบางครั้งเขาก็เอาฮาร์โมนิก้ายัดใส่ปากแล้วเป่าโดยไม่ใช้มือ หรือแม้กระทั่งเป่าทางจมูกก็ทำมาแล้ว! ถือเป็น One of a kind จริงๆครับ น่าเสียดายว่าเขานั้นไม่ชีวิตอยู่ไม่นานมาก เสียชีวิตเมื่ออายุห้าสิบกว่าๆเนื่องจากสภาพร่างกายไม่แข็งแรงอันเป็นผลต่อเนื่องมาจากลักษณะการใช้ชีวิตอันหนักหน่วง ไม่เช่นนั้นคงมีงานดีๆให้เราได้ย้อนกลับไปติดตามมากกว่านี้

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวเล็กๆน้อยๆของยอดมือฮาร์โมนิก้าตัวแสบคนนี้ที่อยากเอามาเล่าสู่กันฟังครับ.