ฮิปสเตอร์บ้านไร่(2) : RL BURNSIDE
หายหน้าไปหลายวันกับการพยายามทำซิงเกิ้ลแรกของวงตัวเอง ตอนนี้เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ขอกลับมาเขียนหัวข้อที่ค้างคาเอาไว้ครับ ฮิปสเตอร์บ้านไร่วันนี้ขอพูดถึงตัวแสบอีกคนหนึ่ง(ทางด้านงานดนตรี)ของวงการที่เริ่มต้นชีวิตนักดนตรีจากท้องทุ่งทางตอนเหนือของมิสซิสซิปปี้แต่อัลบั้มก่อนเสียชีวิตนั้นกลับมีกลิ่นอายอิเลคทรอนิคส์และฮิปฮอปอย่างเข้มข้น! คนนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้ครับนอกจาก RL Burnside ครับ
ผมเองมีโอกาสได้รู้เรื่องราวเกี่ยวศิลปินท่านนี้ผ่านทางสารคดีที่นักดนตรีชาติพันธุ์ชาวอเมริกันชื่อ Alan Lomax ได้จัดทำไว้และผู้นำมาแบ่งตอนลงไว้ในยูทูบภายใต้ชื่อ Alan Lomax Archive ซึ่งมาเนื้อหาเยอะมากๆและมีศิลปินสำคัญๆหลายคนอยู่ในนั้น น่าสนใจและน่าติดตามศึกษามากๆครับหากท่านผู้อ่านอยากทราบถึงที่มาที่ไปของดนตรีที่มาจากชาวแอฟริกัน-อเมริกัน แนวทางการเล่นของ RL ในยุคแรกๆนั้นเป็นลักษณะ percussive กล่าวคือจะเน้นด้านจังหวะเป็นหลัก(จริงๆแล้วแทบจะพูดได้ว่ามากกว่าหรืออย่างน้อยๆก็พอๆกันกับเมโลดี้) ซึ่งเมื่อฟังแล้วสำหรับผมบางครั้งก็พาลจะนึกถึงดนตรีแอฟริกันแท้ๆเอาได้ง่ายๆ ใครๆเขาก็ว่าบลูส์มาจากแอฟริกันมิวสิคแต่บลูส์ที่เราๆคุ้นกันนั้นก็พัฒนาไปไกล แต่สำหรับงานของ RL ในยุคแรกๆนั้นผมว่าเป็นอะไรที่ยืนยันคำพูดนี้ได้เป็นอย่างดีครับ
ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านจะรู้สึกแบบเดียวกันหรือเปล่านะครับ แต่ตอนดูคลิปนี้เป็นครั้งแรกนี่ผมรู้สึกประทับใจมาก ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีใครเล่นเพลงคอร์ดเดียวให้เท่ขนาดนี้ได้ ความเก๋าทะลุจอมากๆครับ อีกอย่างก็คือว่าดนตรีแบบนี้ ฉากหลังแบบนี้คิดถึงอะไรที่เราคุ้นเคยกันมั้ยครับ?
ครั้งแรกที่ผมได้ดูคลิปนี้มันมีอะไรหลายๆอย่างที่พาให้ผมหวนกลับมานึกถึงดนตรีพื้นบ้านอีสานครับ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางดนตรีที่เน้นริทึ่มมากกว่าเมโลดี้ การยืนคอร์ดเดียวตลอดทั้งเพลงหรือที่เรียกว่า Drone หรือสเกลเพนทาทอนิคที่ใช้ หรือไม่ว่าจะเป็นภูมิทัศน์ที่ดูๆไปก็มีความคล้ายคลึงกันหลายๆอย่าง อย่างดินลูกรัง มีรั้วลวดหนามที่แบ่งอาณาเขตอย่างคร่าวๆ และทุ่งหญ้าแห้งๆ คนพื้นถิ่นทั่วโลกบางทีมีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมได้อย่างน่าตกใจเหมือนกันครับ
RL นั้นเริ่มต้นจากการเป็นนักดนตรีท้องถิ่นที่สุดท้ายก็ไปแสวงโชคในเมืองใหญ่อย่างชิคาโก้ตามอย่างนักดนตรีคนอื่นร่วมยุคร่วมสมัย แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรมากมายนักอาจจะเป็นด้วยว่าแนวดนตรีที่เขาเล่นนั้นไม่ได้เหมาะกับเมืองใหญ่อย่างชิคาโก้ที่ขณะนั้นกำลังจะขยับไปสู่บลูส์ที่ดังขึ้น เข้มข้นขึ้น น่าตื่นเต้นขึ้นอย่างดนตรีของค่าย Chess Records ในเวลาต่อมา อยู่ที่ชิคาโก้เพียงสองสามปีไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเขาก็เป็นอันต้องย้ายกลับไปอยู่ทางใต้เหมือนเดิม ช่วงกลางของชีวิตนั้น RL ต้องทำอะไรหลายๆอย่างไปพร้อมๆกันเพื่อประทังชีวิต ถึงจะไม่อดอยากแต่ก็ไม่ได้ร่ำรวยครับ เล่นดนตรีในลักษณะพาร์ทไทม์เสียเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งก็เปิดบาร์เล็กๆบ้าง โดยระหว่างนั้นก็ทำการเกษตรคู่กันไปโดยตลอด(Alan Lomax ได้ตามไปอัดสารคดีถึงบ้านของเขาในช่วงนี้ครับ) ความสำเร็จทางด้านยอดขายเพลงของเขานั้นตามมาในช่วงสิบกว่าปีสุดท้ายของชีวิตครับ จากการเข้าร่วมงานกับค่าย Fat Possum Records ซึ่งอัลบั้มในช่วงนี้ได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่บวกเป็นอย่างมากทั้งจากแฟนเพลงและนักวิจารณ์ ยิ่งไปกว่านั้นการร่วมงานกับ Jon Spencer ตามมาด้วย Tom Rothrock ในภายหลังได้ผลักดนตรีบลูส์ดิบๆในแบบดั้งเดิมของ RL ออกไปไกลจนเหยียบย่างขอบเขตของเทคโนและฮิปฮอปแต่กลับผสมผสานกันได้อย่างลงตัว เราลองย้อนกลับไปดูคลิปด้านบนอีกครั้ง แล้วลองมาฟังอัลบั้มสุดท้ายในชีวิตของเขาเปรียบเทียบกันเป็นการปิดท้าย แบบนี้ไม่ให้เรียกว่าฮิปก็ไม่รู้ว่าไงแล้วครับ!
Recent Comments