Keeping the Blues alive
สวัสดีครับ พบกันอีกครั้งกับข้อเขียนจากคอลัมน์ “บลูส์รำพึง” ที่ตั้งใจไว้ว่าจะเป็นคอลัมน์ที่อยากจะเขียนเรื่องอะไรก็เขียน ทำนองว่าคิดไปเขียนไปประมาณนั้น อะไรมากระทบความคิดถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับบลูส์และคิดว่าน่าสนใจพอผมก็จะเอามาเขียนไว้ในนี้ครับ
วันนี้จั่วหัวไว้ว่า “Keeping The Blues Alive” แล้วก็ตั้งใจเอาคลิปวิดีโอแปะไว้ก่อนเลย แทนที่จะปิดท้ายอย่างผ่านๆมาเพราะอยากที่จะเอาคลิปอันนี้เป็นจุดตั้งต้นครับ ศิลปินในคลิปนี้คือ Igor Prado และวงของเขา สถานที่คือร้านชื่อ Blues City Deli ใน St. Louis ครับ คลิปนี้พิเศษยังไง? ทำไมถึงอยากเอาคลิปเป็นจุดเริ่มต้นบทความ? ก็ต้องบอกอย่างนี้ครับ ว่าถ้าไม่นับความเก่งกาจของตัว Igor Prado และวงของเขาซึ่งเห็นได้ชัดแล้วนั้น สิ่งที่ผมสังเกตุเห็นและค่อนข้างประทับใจในคลิปนี้ก็คือ นี่คือวงบลูส์จากบราซิลที่พูดภาษาอังกฤษยังติดสำเนียงละตินแต่เป็นที่รู้กันว่าเป็นวงที่เล่นบลูส์ในแบบเทรดิชั่นได้อย่างไม่มีที่ติ กำลังเล่นเพลงฮิตจากปี ’52 ของ Rosco Gordon ในร้านอาหารในเมือง St. Louis ให้กับลูกค้าซึ่งเป็นอเมริกัน (ใช่ครับ! Blues City Deli คือร้านอาหารที่ดังเสียด้วย แต่บังเอิญว่าเจ้าของดันเป็นแฟนบลูส์ตัวยงเลยมักจะจัดงานเชิญนักดนตรีที่เขาชื่นชอบมาเล่นอยู่เรื่อยๆ) และที่สำคัญมันเกิดขึ้นในเวลากลางวัน จากคลิปที่ผมแปะไว้ด้านบนซึ่งดูเผินๆเหมือนไม่มีอะไร แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าแทบทุกบริบทนั้นแตกต่างไปจาก set up เดิมๆสำหรับการออกไปฟังบลูส์ในแบบที่เราคุ้นชินกันพอสมควร แต่หากทุกอย่างที่พอเหมาะพอเจาะมารวมกัน(นักดนตรีที่ดี, ผู้ฟังที่เข้าใจ, เจ้าของสถานประกอบการที่พร้อมสนับสนุน) ช่วงเวลาดีๆที่มีดนตรีบลูส์เป็นแบ็คกราวนด์ก็เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา
สำหรับในบ้านเรานั้นไม่รู้ว่าเริ่มที่ไหน เมื่อไหร่ แต่เราๆท่านๆก็ชินกับภาพของบลูส์คลับที่เต็มไปด้วยขี้เมาและควันบุหรี่ set list ที่แต่ละวงมีนั้นก็มักจะมีเพลงซ้ำกันอยู่ไม่มากก็น้อยจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ สร้างสถานการณ์ที่แทบไม่มีตัวเลือกให้กับทั้งนักดนตรีและผู้ฟัง มันเป็นงูกินหางครับไม่มีที่มาที่ไปไม่มีใครผิด นักดนตรีไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆเพราะกลัวลูกค้าไม่สนใจ ลูกค้าก็เลยรู้จักเพลงน้อยลงๆเพราะนักดนตรีเล่นแต่เพลงเดิมๆ เป็นวงจรที่ไม่สร้างสรรค์เลยครับสำหรับนักดนตรีที่อยากเล่นดนตรีจริงจัง โดยเฉพาะแนวดนตรีที่เป็นกระแสรองอยู่แล้วอย่างดนตรีบลูส์ ทั้งๆที่ความหลากหลายในดนตรีบลูส์นั้นจริงๆแล้วมีอยู่มากพอให้เลือกฟังเลือกศึกษา และมันก็จะเป็นเรื่องดีมากๆถ้าขอบเขตของการเสพดนตรีบลูส์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเวลากลางคืนและ set list ซ้ำๆ อคูสติคบลูส์ในร้านกาแฟตอนกลางวันก็เข้าท่านะผมว่า หรือบลูส์แจมตอนบ่ายๆวันเสาร์หรืออาทิตย์นี่ถ้าถามผมตอนนี้คิดว่าน่าสนใจกว่าไปเดินจตุจักร ทุกวันนี้บางทีทางเข้ามันก็มีแค่ทางเดียวแคบๆอย่างมือกีตาร์ถ้าเล่นไม่ได้อย่าง SRV, Hendrix, Clapton แทบไม่กล้าขึ้นแจม บางทีก็ชวนสงสัยว่าแล้วถ้ามันมีใครที่ชอบต่างไปจากนี้ล่ะ? ชีวิตนี้บางทีวันก็สั้นเกินกว่าจะไปทำตามมาตรฐานที่ใครก็ไม่รู้ตั้งไว้นะครับ ลองคิดง่ายๆถ้ามีวงหลายๆวงที่ศึกษาในแต่ละแนวทางให้เกิดเป็นสุ้มเสียงเฉพาะของวงไปเลยก็คงน่าสนใจดีวงนี้เล่น Swamp Blues, วงนี้เล่น Swing Blues, วงนี้เล่นบลูส์ร็อค, วงนี้เล่นคลาสสิคบลูส์ ถ้าเมื่อไหร่มีอย่างนี้ได้วงการบลูส์คงคึกคักน่าดูครับ
เขียนมาจนใกล้จบก็ต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่าไม่ได้เขียนตำหนิความเป็นไปของวงการนะครับ แต่เขียนด้วยความหวังว่าหากมีวงดนตรีใหม่ๆ หรือสถานประกอบการไหนที่อยากจะลองมองนอกกรอบทำอะไรใหม่ๆแทนที่จะมองมุมเดียวว่าความแตกต่างเป็นเรื่องเสี่ยง แต่บางทีการหลีกหนีจากความจำเจมาเริ่มทำอะไรใหม่เป็นคนแรกๆอาจจะให้ผลลัพธ์ที่คุณคาดไม่ถึงก็ได้ อย่างเขาว่าเป็นหัวหมาดีกว่าเป็นหางเสือครับ.
Recent Comments