Blow Wind Blow
วันนี้ไม่ทราบว่าลมฟ้าอากาศที่อื่นๆเป็นอย่างไรกันบ้างนะครับ แต่ที่นนท์ฯที่ผมอยู่นี่ออกจะผิดปรกติอยู่สักหน่อย หน้าฝนแท้ๆฟ้าก็มืดแต่ฝนดันไม่ยอมตก แต่ลมนี่พัดแทบไม่หยุดมาสามสี่วันแล้วครับ เห็นอย่างนี้เลยเอามาเป็นหัวเรื่องของคอลัมน์ “บลูส์รำพึง” ที่จะเขียนวันนี้เสียเลย ลมพัดไม่หยุดแบบนี้สำหรับผมเพลงบลูส์เพลงนี้แว่บขึ้นมาในหัวเป็นอันดับแรกเลยครับ “Blow Wind Blow” เพลงของมัดดี้ วอเตอร์สที่อัดเสียงครั้งแรกไว้ในปี 1953 ครับ เพลงนี้นักดนตรีสายชิคาโก้บลูส์นำไปคัฟเวอร์กันบ่อยครับ เวอร์ชั่นอื่นๆที่น่าฟังก็จะเป็นของลูกศิษย์ลูกหา(หรือว่าลูกวงเก่า)ของมัดดี้ที่นำไปคัฟเวอร์หลังจากแยกตัวออกไปทำโปรเจคท์ของตัวเองนั่นเองครับ ไม่ว่าจะเป็น James Cotton, Jimmy Rogers, Mojo Buford, Sam Lay หรือ Mud Morganfield ลูกชายของมัดดี้เอง ส่วนคนดังที่สุดที่เคยนำเพลงนี้ไปคัฟเวอร์ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนอีริค แคลปตันนั่นเองครับ
เวอร์ชั่นที่ผมแนบมาในคลิปนี่เป็นช่วงของการกลับมามีชื่อเสียงเป็นระลอกสองของมัดดี้ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระแส British Invasion ซึ่งตรงนี้ก็ตลกดีนะครับเพราะว่าคนที่เป็นเป็นแรงบันดาลใจให้วงอังกฤษเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Rolling Stones, Cream, Jimi Hendrix, John Mayall ก็คือมัดดี้และกลุ่มนักดนตรีจาก Chess Records นั่นเอง
พูดถึงลักษณะการทำวงของมัดดี้นี่จะว่าไปก็เด่นอยู่อย่างหนึ่งคือลักษณะการเป็นจ่าฝูงเป็นผู้นำของเขานี่ชัดเจนมากๆครับ บารมีของเขานั้นรู้สึกได้จริงๆ และการเลือกนักดนตรีมาร่วมวงไม่ว่าจะตำแหน่งไหน และในยุคสมัยไหนนั้นจัดได้ว่าสายตาแหลมคมเสมอ ตั้งแต่วงแรกของมัดดี้ที่อัดเพลงให้กับ Chess Records จนมาถึงวงสุดท้ายนั้นนักดนตรีทุกตำแหน่งเรียกได้ว่าตำนานของวงการจริงๆครับ ลองไล่กันเล่นๆนะครับเอาแค่มือฮาร์โมนิก้าก็จะมี Little Walter, Junior Wells, Big Walter, George Smith, James Cotton, Mojo Buford, Paul Oscher, Carey Bell, Jerry Portnoy ทุกคนจบจากสถาบันมัดดี้ไปนี่เรียกได้ว่าระดับหัวหน้าวงกันทั้งนั้นครับ หากท่านผู้อ่านสนใจก็ลองติดตามหางานฟังเรียงชื่อไปเลยครับ แล้วลองเช็คเครดิตดูว่าใครเป็นใคร ใครมาช่วยงานของใคร เราจะได้เห็นภาพ Family Tree ของชิคาโก้บลูส์ที่มีภาพของมัดดี้เป็นปู่ทวดชัดเจนเลยครับ
ลองมาดูในคลิปนี้ซึ่งเป็นคลิปที่มาจากการแสดงสดในปี 1976 ที่ Dortmund, Germany เรื่องที่ผมอยากพูดถึงก็คือการรวมวงในแบบชิคาโก้แท้ๆที่มัดดี้และเพื่อนๆนักดนตรีเป็นคนวางรากฐานเอาไว้ตั้งแต่สมัยที่ยังอยู่ Chess Records ครับ จะเห็นได้ว่าเวลาผ่านไปเกือบยี่สิบปีมัดดี้ก็ยังทำวงเหมือนเดิมครับ พลังและเสน่ห์ของชิคาโก้บลูส์ก็ไม่ได้ลดลงไปเลย เสน่ห์ที่ว่านั้นมาจากการที่ทำแต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองโดยไม่ล้ำขอบเขตของคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันตัวโน้ตเหล่านั้นก็สอดประสานกันอย่างถูกที่ถูกทาง มัดดี้เองมักจะเล่นกีตาร์ไฟฟ้าในลักษณะเดียวกันกับที่เขาเคยเล่นอคูสติคซึ่งหลักๆก็คือการ accompany การร้องของตัวเองนั่นเอง ความแข็งแรงของริทึ่มนั้นสร้างมาจากด้านหลังของวงซึ่งในที่นี้ก็คือ Willie “Big eyes” Smith มือกลองและ Calvin Jones มือเบส ซึ่งการเล่นของทั้งคู่นั้นจะเน้นการสร้างริทึ่มที่กระชับและแข็งแรงตรงไปตรงมามากกว่าที่จะสร้างอะไรที่ซับซ้อน ในขณะที่ Bob Margolin มือกีตาร์และ Pinetop Perkins มือเปียโนก็จะเป็นตัวเชื่อมเติมเต็มช่องว่างระหว่างริทึ่มและการซัพพอร์ตมัดดี้ ส่วน Jerry Portnoy นั้นก็จะเล่นในลักษณะถาม – ตอบกับ phrasing ในการร้องของมัดดี้ตลอดเวลา อยากให้ผู้อ่านลองสังเกตุดูครับ ทั้งหมดนี้เมื่อเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน มันคือความสวยงามของชิคาโก้บลูส์ครับ ความกระชับ ความสร้างสรรค์ที่อยู่ในความมีระเบียบ พลังที่อยู่ในขอบเขต และนี่คือศาสตร์บลูส์แห่งเมืองเหนือที่มัดดี้เป็นคนวางรากฐานเอาไว้ครับ
รายชื่อนักดนตรีในคลิป Muddy Waters(V,Gt), Bob Margolin(Gt), Calvin Jones(B), Pinetop Perkins(Pn), Jerry Portnoy(H), Willie “Big eyes” Smith(D)
Recent Comments